<strong>ลูกชังรูปร่างหน้าตาตนเอง พ่อแม่ทำอย่างไรดี?</strong>

ลูกชังรูปร่างหน้าตาตนเอง พ่อแม่ทำอย่างไรดี?

Loading

ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนในสังคม ภาพหญิงสาวชายหนุ่มหุ่นสมส่วน หน้าตาดี ผิวขาวออร่า ที่ถูกโพสต์ในสื่อกลายเป็นมาตรฐานความงามหรือ Beauty Standard ของสังคม จนทำให้หลายคนเชื่อว่า คนสวยต้องอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว หากผิดไปจากนั้น ไม่ถือว่า “งาม” 

รูปลักษณ์สวยงามตามค่านิยมของสังคมที่ปรากฏผ่านโซเชียลมีเดีย อาจทำให้เด็กวัยรุ่นหลายคนพยายามทุกวิถีทางให้มีความงามตามมหาชนนิยม แต่ที่ร้ายกว่านั้น บางคนถึงขั้นไม่พึงพอใจหรือเกลียดรูปร่างหน้าตาของตนเอง 

ฟังเผิน ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร พอลูกโตเป็นผู้ใหญ่ปัญหาเรื่องไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของตนเองคงหมดไป แต่การไม่ชอบรูปร่างของตนเองนั้นจัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เรียกว่าโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง หรือ Body Dysmorphic Disorderมักจะเกิดกับผู้ป่วยในวัย 13-30 ปี ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเป็น และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง และฆ่าตัวตายได้ในที่สุด  

แต่รู้ไหมว่า โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากค่านิยมในครอบครัว หรือค่านิยมในสังคมแวดล้อมผู้ป่วยที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตา รวมทั้งเกี่ยวพันไปถึงสภาพภายในจิตใจของผู้ป่วย ที่ขาดความมั่นใจและรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า

อาการแบบไหนเข้าข่ายเป็นโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตนเอง?

หากอยากสวยอยากงาม หรือทำศัลยกรรมเพื่อให้ดูดีขึ้นบ้าง ถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่ในรายที่ป่วย จะมีความรู้สึกไม่ชอบร่างกายของตนเองมากผิดปกติ โดยมักเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น คิดซ้ำ ๆ ส่องกระจกบ่อย ๆ แสดงความไม่พึงใจในรูปร่างตนเอง ถามย้ำกับผู้อื่นด้วยความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาตนเอง จนเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน เรียกว่าส่องกระจกทั้งวันจนไม่เป็นอันทำอะไร โดยเฉลี่ย 3-8 ชั่วโมง รวมถึงพบว่ามีความคิดหรือการกระทำที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองตลอดเวลา หากมีอาการที่กล่าวมา คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา 

คุณพ่อคุณแม่ช่วยแก้ปมได้อย่างไร?

ความรู้สึกไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของตนเองนั้น ส่งผลถึงสภาพจิตใจของเจ้าตัว ซึ่งหากเกิดขึ้นกับลูกวัยรุ่นอาจทำให้เป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า มีทัศนคติต่อตัวเองในแง่ลบ ดูถูกความสามารถตนเอง ไปจนถึงมีปัญหาปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ผลการเรียนตกต่ำ และนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น เป็นโรคซึมเศร้า แต่ความรู้สึกที่มีต่อตนเองทั้งเรื่องความสามารถและรูปร่างหน้าตานั้น สามารถบ่มเพาะได้จากครอบครัว 

ใช้เวลาใกล้ชิดกับลูก

คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาใกล้ชิดกับลูกตั้งแต่เด็ก เพื่อสร้างความสนิทสนมให้ลูกรู้สึกถึงความรักและความอบอุ่น เพื่อไม่ให้รู้สึกว่ามีปมด้อย และรู้สึกมั่นใจในตัวเอง 

ยอมรับในความสามารถของลูก

การยอมรับในความสามารถของลูกและส่งเสริมให้ลูกได้ค้นหาสิ่งที่ตนเองถนัด และได้แสดงออกในสิ่งที่เขาถนัด โดยไม่นำข้อด้อยของลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน ควรชื่นชมเพื่อให้เด็กภาคภูมิใจในตนเอง ข้อสำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่นำความคาดหวังของตนเองไปกดดันลูกจนรู้สึกมีปมด้อย  

คำชื่นชมลูก

คุณพ่อคุณแม่ควรให้คำชื่นชมกับความมานะพยายาม ไม่ใช่ให้คำชมเฉพาะเมื่อลูกทำสำเร็จเท่านั้น โดยพ่อแม่ต้องปรับทัศนคติตนเอง ไม่มองปมด้อยของลูกเป็นปัญหา แต่ให้การยอมรับลูกทั้งจุดเด่นและจุดด้อย การไม่ถูกครอบครัวตอกย้ำข้อด้อยของตนเอง จะทำให้เขาเห็นข้อดีอื่น ๆ ของตนเอง และไม่รู้สึกข้อด้อยที่มีเป็นปัญหา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนาได้เหมาะสมตามช่วงวัย

ต้นแบบในความภาคภูมิใจในตนเอง

คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบในความภาคภูมิใจในตนเองที่ไม่ใช่เรื่องรูปร่างหน้าตา เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เลียนแบบ และสร้างความภาคภูมิใจตามคุณพ่อคุณแม่ เช่น ภาคภูมิใจในความมานะของตนเองในหน้าที่การงาน ความซื่อสัตย์ หรือการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเด็ก ๆ จะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อพ่อแม่ และถอดแบบมาโดยไม่รู้ตัว และไม่รู้สึกมีปมด้อยเรื่องรูปร่างหน้าตา 

ชักชวนลูกทำกิจกรรม

ชักชวนลูกทำกิจกรรมดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อสร้างความรู้สึกดีต่อตัวเอง เพราะเมื่อตัวเองมีสุขภาพกายแข็งแรง อารมณ์เบิกบาน ก็จะมีกำลังใจและกำลังกายในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงเป็นการฝึกวินัยในการดูแลสุขภาพให้กับลูก ไม่ใช้เวลากับกิจกรรมไม่มีประโยชน์มากเกินไป เช่น การเล่นโซชียลมีเดีย หรือการเล่นเกม เป็นต้น 

สอนลูกให้รู้เท่าทันสื่อ

โดยการให้รู้จักการเลือกรับสื่อที่ดี และหลากหลาย ไม่ให้สื่อมีอิทธิพลทางลบกับตัวเอง เช่น สื่อโฆษณามักจะจูงใจว่าผู้หญิงที่มีเสน่ห์ต้องมีผิวหน้าขาวใส ต้องมีรูปร่างผอมเพรียว เนื้อหาเหล่านี้ทำให้วัยรุ่นที่ไม่มีรูปร่างเช่นนั้น รู้สึกว่าตัวเองเป็นปมด้อย คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสอดแทรกทัศนคติที่ถูกต้องให้ลูก  

เมื่อเด็ก ๆ มีเรื่องให้ภาคภูมิใจมากมาย รูปร่างหน้าตาจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่พวกเขาจะเอามาจุดสร้างความไม่ชอบตัวเองอย่างแน่นอน