เรียนรู้ร่วมกันเรื่อง “วันนั้นของเดือน”

เรียนรู้ร่วมกันเรื่อง “วันนั้นของเดือน”

Loading

นอกจากเรื่องเพศจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกนำมาพูดถึงในสังคมไทยแล้ว เรื่อง “วันนั้นของเดือน” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สาว ๆ ส่วนใหญ่มักจะกระมิดกระเมี้ยนที่จะพูดถึง ทั้งที่ความจริงการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติสำหรับสาว ๆ ทุกคน

การให้ความรู้เกี่ยวกับ “ประจำเดือน” หรือที่เรียกกันติดปากว่าเมนส์ มาจากภาษาอังกฤษว่า menstruation เป็นเรื่องที่พ่อแม่พึงกระทำ เพื่อแนะนำการดูแลสุขอนามัยที่ถูกต้องให้กับลูกสาว เด็กผู้หญิงมักจะมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุ 12-13 ปีอาจจะเขินอายเกินกว่าจะขอคำปรึกษา

          แต่ในกรณีที่มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 8 ปี หรืออายุเกิน 16 ปีไปแล้ว แต่ยังไม่มีประจำเดือนถือว่าผิดปกติ จำเป็นต้องปรึกษาสูตินารีแพทย์

          ระยะเวลาที่จะมีประจำเดือนครั้งแรกอาจคาดการณ์ได้คร่าวๆโดยนับจากจากระยะเวลาที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมไป 2 ปี หรือหลังจากเริ่มมีตกขาว 6 เดือน-1 ปี

           ประจำเดือนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยสาว โดยรังไข่จะสร้างฮอร์โมนที่ชื่อว่าเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เป็นพัฒนาการของร่างกายผู้หญิงที่พร้อมต่อการตั้งครรภ์ ให้ตัวอ่อนของทารกมาฝังตัว แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจะลดต่ำลงเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้นก็จะลอกตัวและมีเลือดออกมาทางช่องคลอด เป็นเวลา 2-7 วัน และจะเกิดซ้ำ ๆ เช่นนี้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ โดยระยะห่างระหว่างรอบเดือนปกติอยู่ที่21-35 วัน ซึ่งปริมาณเลือดที่ออกในแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 80 cc หรือใช้ผ้าอนามัยไม่เกิน 16 ชิ้น โดยซับเลือดไม่ชุ่มมาก

ส่วนวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือนช่วง 2-3 ปีแรก แล้วประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีลักษณะไม่แน่นอน ไม่ต้องกังวลเป็นภาวะของการเริ่มเป็นประจำเดือนตามปกติ

อาการ “มนุษย์เมนส์” ผิดปกติไหม?

ผู้หญิงหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับอาการ “มนุษย์เมนส์” ที่เห็นอะไรก็ขวางหูขวาง หงุดหงิดง่าย กังวล อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า จิตตก แถมสิวก็ขึ้น ท้องก็อืด ในช่วงนั้นของเดือน เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นว่า กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (premenstrual syndrome)อาจเกิดช่วงก่อนมีหรือช่วงที่มีประจำเดือน ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและร่างกาย อาการเหล่านี้มักหายไปในช่วง 2-3 วันหลังจากประจำเดือนมาแล้วแต่หากมีอาการมากผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

นอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว ผู้หญิงกว่าครึ่งหนึ่งมักมีอาการปวดท้องในช่วงวันแดงเดือด บางคนปวดไม่มากก็จะหายไปเอง แต่บางคนปวดรุนแรง ก็สามารถกินยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบ เช่น paracetamol, mefenemic acid (Ponstan) บรรเทาได้ หรือใช้การประคบอุ่นที่ท้องน้อย การนวดที่ท้องน้อย และออกกำลังกายสม่ำเสมอก็ช่วยลดอาการปวดให้น้อยลง แต่หากมีอาการปวดท้องรุนแรงมากในทุกครั้ง ควรต้องไปพบสูตินารีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม

“เลือกใช้ “ผ้าอนามัย” แบบไหนดี?”

          ผ้าอนามัยแบบแผ่น ใช้ง่าย มีจำหน่ายทั่วไป แต่ไม่เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมทางน้ำหรือโลดโผน และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยเมื่อรู้สึกเปียกชื้น หรือทุก 3-4 ชั่วโมงในช่วงวันที่มามาก หรืออย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ครั้ง เพราะหากปล่อยให้อับชื้น เชื้อราอาจถามหา หรือเกิดการอักเสบของผิวหนัง ติดเชื้อที่น้องหนูได้

          ผ้าอนามัยแบบสอด ผ้าอนามัยชนิดนี้ต้องใส่ไว้เข้าไปภายในช่องคลอดช่วยให้ทำกิจกรรมทางน้ำ หรือการออกกำลังกายได้ อีกทั้งสามารถเลือกใส่เสื้อผ้าได้อย่างสบายใจ ลดการซึมเปื้อนและอาการระคายเคืองผิวหนัง แต่ในเมืองไทยไม่นิยมนัก เพราะต้องสอดเข้าไปในอวัยวะเพศ

          ถ้วยอนามัย (menstrual cup) ใช้ซ้ำได้ บางยี่ห้อมีอายุการใช้งานนานถึงสิบปีทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่เกะกะเพราะอยู่ภายใน ระคายเคืองน้อยใส่ได้ตลอดวัน (12 ชม.) สามารถใส่ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ทำกิจกรรมต่างๆได้ แต่ต้องใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ จึงไม่ได้รับความนิยมและยังเป็นของใหม่สำหรับบ้านเรา