คุกคามทางเพศ ตลกร้ายในสื่อที่ต้องสอนลูก

คุกคามทางเพศ ตลกร้ายในสื่อที่ต้องสอนลูก

Loading

ปัจจุบันนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างเข้าไปท่องอยู่ในโลกออนไลน์จนเป็นเรื่องปกติ และสิ่งที่เป็นเรื่องเบื่อหน่ายของคนเป็นพ่อเป็นแม่คือการที่ลูกเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากโลกอินเทอร์เน็ต และบางครั้งลูกก็ทำตัวเป็นเกรียนคีย์บอร์ดเสียเอง โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่แสดงออกอยู่นั้นไม่เหมาะสม และบางพฤติกรรมอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายด้วยซ้ำ นั่นเพราะเขาเห็นว่าคนในโลกออนไลน์ทำกัน

            วันนี้เราจะชวนคุณผู้อ่านมาคุยกันเรื่อง Sexual Harassment หรือ การคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราพบเห็นกันได้บ่อยในโลกออนไลน์ และบรรดาชาวเน็ตต่างก็เห็นเป็นเรื่องสนุกที่ได้แสดงความเห็นในเชิงคุกคามทางเพศ แต่นั่นคือ “ตลกร้าย” ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยผ่านและเป็นเรื่องที่ควรต้องสอนลูกหลานให้เข้าใจ

การคุกคามทางเพศนั้น หากเป็นการกระทำต่อหน้า เป็นได้ทั้งการกระทำทางคำพูด แสดงท่าทาง สายตา แต่ในทางออนไลน์นั้นการคุกคามทางเพศทำได้กระทั่งผ่านทางตัวอักษร สติ๊กเกอร์ หรืออิโมจิ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำได้อย่างรุนแรง และอาจนำไปสู่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศได้

            คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนลุกให้เข้าใจถึงเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้ไปกระทำกับผู้อื่น และเมื่อถูกกระทำด้วยลักษณะเดียวกันเขาจะได้รู้ว่า นั่นคือการคุกคามทางเพศที่ต้องหลีกให้ไกล หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่

           1.ตัวหนูเป็นของหนู

            สอนให้เด็กรู้ว่าเขามีสิทธิ์ในร่างกายของเขา หากไม่อยากให้ใครมาสัมผัสเนื้อตัวสามารถปฏิเสธได้ เช่นเดียวกันหากเขาจะสัมผัสผู้อื่นก็ต้องได้รับการยินยอมก่อน และเมื่อถูกปฏิเสธเขาต้องเคารพและไม่กระทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น

           2.เห็นใจผู้อื่น

            การสร้างสถานการณ์สมมุติ เพื่อกระตุ้นจินตนาการให้เด็กได้คิดตามเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เช่น หากลูกถูกเพื่อนทำแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร เพื่อไม่ให้ลูกไปทำพฤติกรรมคุกคามผู้อื่น ซึ่งหากเป็นเด็กเล็กวัยอนุบาลมักจะยังคิดแทนคนอื่นไม่ได้ ทำให้ไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น พ่อแม่ต้องค่อย ๆ สอนด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่ใส่อารมณ์หรือทำให้ลูกรู้สึกอาย และปลูกฝังเรื่องนี้สม่ำเสมอเพราะการสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้นไม่สามารถสอนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เป็นการปลูกฝังอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เด็กจนโต

           3.ผลกระทบที่ตามมา

            การสร้างความตระหนักที่ดีคือการบอกให้รู้และเข้าใจถึงผลลัพธ์ของการกระทำ พ่อแม่ควรอธิบายลูกว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลกระทบต่อผู้อื่นและตัวเขาเองเสมอ และเขาจะต้องรับผิดชอบผลของการกระทำนั้น ๆ

           4. ช่วยเหลือเพื่อนได้ บอกผู้ใหญ่เป็น

            ปลูกฝังให้ลูกรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เขาภาคภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่า แต่เหนือสิ่งอื่นใดเขาจะสามารถพาเพื่อนออกจากสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมได้ ขณะเขาก็จะมีทักษะในการป้องกันตัวจากการถูกคุกคามทางเพศด้วย วิธีการเริ่มได้จากลองชวนคุยเรื่องการช่วยเหลือเด็กคนอื่น โดยสอนให้ลูกรู้จักการสังเกตพฤติกรรมและตรวจสอบสิ่งที่พวกเขาเห็น เน้นย้ำเสมอว่าพ่อแม่พร้อมให้การช่วยเหลือเขา สามารถมาบอกเพื่อขอความช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อต้องการ หรือหากเพียงต้องการที่ปรึกษาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่นั้นได้เช่นกัน

           5. แสดงออกแบบไหนหมายความว่าอะไร

            สอนให้ลูกเรียนรู้การแสดงอารมณ์และการแสดงออกทางสีหน้า โดยทำได้ทั้งจากให้ลูกสังเกตอารมณ์ตนเอง หรือชักชวนให้สังเกตสีหน้าและภาษากายของผู้อื่น เพื่อให้เขารู้จักอารมณ์ของตนเองและสามารถอ่านอารมณ์และภาษากายของคนอื่น ๆ ได้ ก็จะสามารถเอาตัวเองออกจากการถูกคุกคามได้

           6.ไม่ต้องโพสต์ทุกอย่างที่คิด

            สอนให้ลูกรู้จักการไตร่ตรองและยับยั้งตนเองก่อนการแสดงความคิดเห็น ส่งต่อหรือโพสต์เรื่องใด ๆ ลงในสื่อสังคมออนไลน์ บอกให้เขารู้ว่า ทุกอย่างที่ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์จะไม่มีวันหายไปไหน และสามารถสืบค้นได้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาได้ภายหลัง

           7. พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี

            การมีแบบอย่างที่ดีเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งพ่อแม่ควรเป็นต้นแบบในเรื่องนี้ อย่าทำพฤติกรรมที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศเสียเอง เช่น กอดหอมลูกโดยที่ลูกไม่ยินยอม หรือมองว่าเป็นเรื่องตลก แม้แต่การพูดจาแซวกันเล่นของรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ พ่อแม่ก็ไม่ควรเห็นเป็นเรื่องตลกหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายคุกคามทางเพศ ซึ่งหากนั่งอยู่กับลูกก็อาจจะชวนคุยถึงเหตุการณ์นั้นและบอกให้ลูกรู้ว่าไม่ควรเห็นเป็นเรื่องสนุกด้วยเช่นกัน

วิธีการที่นำมาบอกนี้ คุณพ่อคุณแม่ใช้สอนให้ลูกได้ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางเพศได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์