5 วิธีรับมือเมื่อลูกอยากได้ของเหมือนเพื่อน

5 วิธีรับมือเมื่อลูกอยากได้ของเหมือนเพื่อน

Loading

อาการ “อยากมีอยากได้เหมือนเพื่อน” ทำให้พ่อแม่หลาย ๆ บ้านปวดหัวอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนเชื่อมโยงกันได้ง่าย ใครมีอะไร กินอะไร ก็เห็นหมด ทำให้เกิดความแตกต่างและเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน เมื่อเพื่อนมีอะไร ลูกก็อยากมีบ้าง โดยที่ลูกอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญและจำเป็น

รับมือเมื่อลูกอยากได้ของเหมือนเพื่อน

1. เราไม่ซื้อให้ ไม่ได้แปลว่าเราเป็นแม่ที่ใจร้าย การใช้จ่ายกับลูกให้น้อยลงไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนงกหรือเป็นแม่ที่ไม่รักลูก ในทางตรงกันข้าม เราควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้จ่าย และใช้สถานการณ์นี้ในการสอนลูก

2. เปิดใจคุยกับลูก “ถ้าหนูงอแงแบบนี้ รอบหน้าไม่ต้องไปกับเพื่อนแล้วนะ” หรือถ้าจะไปจริง ๆ ก็ต้องตกลงกันล่วงหน้า เช่น “แม่อนุญาตให้หนูซื้อของได้ 1 ชิ้น ในราคาไม่เกิน XX บาท” “ถ้าเกินกว่านี้ หนูต้องใช้เงินออมของตัวเอง”

3. ถ้าไม่แน่ใจว่าลูกอยากได้จริงมั้ย หรือแค่อยากได้ตามเพื่อน พ่อแม่ก็อาจจะเสนอทางเลือกกับลูกว่า “หนูลองไปเล่นของเพื่อนดูก่อนว่าชอบจริงมั้ย” “ถ้าชอบและอยากได้จริง ๆ เดี๋ยวค่อยมาตกลงกันอีกที”

4. ถ้าลูกตัดสินใจว่าจะใช้เงินออมซื้อของเล่นตามเพื่อน ทั้งที่ความเป็นจริง ก่อนหน้านั้นลูกไม่อยากได้ หรือเคยตกลงกับแม่แล้วว่าไม่ให้ซื้อ ก็อาจจะบอกลูกว่า “ถ้าลูกเลือกใช้เงินซื้อของสิ่งนี้ ลูกจะไม่มีเงินเอาไว้ใช้ซื้อของที่ลูกต้องการจริง ๆ นะ” พอพูดแบบนี้ ลูกอาจจะคิดได้เองว่า งั้นไม่เอาดีกว่า เสียดายเงิน เก็บเงินไว้ซื้อดีกว่า หรือให้ลูกซื้อได้แต่ลูกต้องกลับไปเก็บเงินซื้อเอง เพื่อให้แน่ใจว่าลูกอยากได้มันจริง ๆ

5. สอนลูกให้แยกแยะระหว่าง สิ่งที่ต้องการ’ และ สิ่งที่จำเป็น’ บอกลูกว่าเราไม่สามารถซื้อทุกอย่างที่เราอยากได้ แต่เราซื้อเพราะเหตุผลและความจำเป็น ถ้าลูกถามว่า แล้วทีเพื่อนทำไมซื้อได้ ก็อาจจะตอบลูกไปว่า แต่ละบ้านมีเงินไม่เท่ากัน และเหตุผลในการใช้จ่ายไม่เหมือนกัน สอนลูกให้รู้จักตัดใจ และเข้าใจความแตกต่างของชีวิตว่า “ทุกครอบครัวไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ลูกก็อาจจะมีหลายอย่างที่เพื่อนไม่มี”

“รักลูก” สอนลูกให้ใช้เงินเป็นกันนะคะ และหมอเชื่อว่าเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะรู้สึกขอบคุณในความใจแข็งของเรา

.

ที่มา : ThaiPBS Kids เรื่องโดย พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล