ความรักและความห่วงที่มีให้ลูกมากเกินไป อาจกลายเป็นกำแพงสูงและหนาที่กีดกันลูกให้ถอยห่างไปจากคนเป็นพ่อแม่ ซึ่งต้องไม่ลืมว่าการดูแลลูกและการปลูกฝังทัศนคติทางเพศที่ถูกต้องให้ลูกได้นั้น ต้องพูดคุยกัน แต่หากการพูดคุยกับลูกกลายเป็นเรื่องยากไปเสียแล้ว การดูแลเรื่องอื่น ๆ ก็จะเป็นเรื่องยากตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แค่ไหนที่เรียกว่าห่วงมากเกินพอดี
พ่อแม่ที่ปกป้องลูกเกินเหตุ (Overprotective Parent) คือพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่แสดงพฤติกรรมการปกป้องลูกไม่เพียงไม่ให้ได้รับอันตรายทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังเข้าไปปกป้องดูแลทางด้านความคิดของลูก โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของลูกทุกเรื่อง หรือพยายามให้ลูกคิด ตัดสินใจเหมือนกับตัวเองจนอาจไปสร้างความอึดอัดให้เกิดขึ้นกับลูก
ทำไมปกป้องเหมือนไข่ในหิน
ความห่วงที่มีมากเกินไปนั้นเกิดขึ้นจาก คุณพ่อคุณแม่ต้องการปกป้องลูกให้รอดพ้นจากอันตรายและความเจ็บปวดทั้งปวง และต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ อีก
เป็นคนวิตกกังวล
หากพื้นฐานของคุณพ่อ คุณแม่เป็นคนขี้วิตกกังวล มีแนวโน้มว่าพวกท่านจะอยู่ในกลุ่มพ่อแม่ที่ปกป้องลูกเกินพอดี นั่นเพราะไม่สามารถจัดการกับความเครียดของตนเอง จึงส่งผลให้แสดงความห่วงลูกออกไปทุกอย่าง ทั้งเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน อยู่ที่ไหน ทำอะไร จนกลายเป็นความอึดอัด
ข่าวร้ายรอบตัว กลัวคบเพื่อนไม่ดี
ปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็เสพข่ายภัยอันตรายที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวัน เมื่อเสพมากเข้าก็เกรงว่าลูกจะไปประสบเหตุแบบในข่าว จนกลายเป็นห่วงไปหมดทุกเรื่อง สอดส่องไปถึงเพื่อน ๆ ของลูกเพราะกลัวว่าจะพากันไปทำเรื่องไม่ดี ซึ่งพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่นั้นจะทำให้เด็กไม่กล้าเข้าสังคม
กลัวล้มเหลว ไม่สมบูรณ์แบบ
พ่อแม่อาจจะเคยมีเรื่องที่ล้มเหลวมาในอดีต และกลัวความล้มเหลวที่ทำให้รู้สึกแย่ ซึ่งความรู้สึกกลัวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตัวเอง แต่ยังส่งไปถึงลูก เกรงว่าหากลูกตัดสินใจผิดพลาดหรือล้มเหลว และเหรงว่าลูกจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่าเด็ก ๆ ควรได้ใช้ชีวิตและลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้สามารถรับผิดมือกับความผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ด้วย
ลูกคือเบบี๋อยู่เสมอ
ความรู้สึกว่าลูกคือเด็กตัวเล็ก ๆ อยู่เสมอ ทำให้คุณพ่อคุณแม่พุงตัวเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือช่วยตัดสินใจในทุกเรื่อง บางเรื่องก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ถึงวัยที่ลูกจะทำเรื่องนั้น ๆ เพียงลำพัง และอยากให้เชื่อฟังตนเองเหมือนเมื่อลูกยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ซึ่งนั้นยิ่งทำให้ลูก ๆ รู้สึกอึดอัด
รู้ได้อย่างไรว่าห่วงเกินพอดี
คุณพ่อคุณแม่อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังส่งพลังลบให้ลูกจากความรักและห่วงใยที่มีมากเกินไปของตนเอง ให้ลองสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่า คุณอาจจะห่วงลูกมากเกินไป ได้แก่ ลูกของคุณไม่ค่อยร่าเริงยิ้มแย้ม หรือแสดงออกไม่ดีเมื่อได้ยินคำสั่งของคุณ เช่น ไปทำการบ้านเดี๋ยวนี้ ไปอาบน้ำ ไปอ่านหนังสือ ซึ่งการออกคำสั่งหรือคอยกำกับตลอดเวลา จะทำให้เด็กไม่มีความคิดเป็นของตนเอง นอกจากนี้คุณอาจพบว่าลูกมักโกหกหรือปิดบังบางเรื่องกับคุณบ่อยครั้ง นั่นเพราะรู้สึกว่ากำลังถูกพ่อแม่ควบคุมพฤติกรรมอยู่ และหากลูกของคุณมีพฤติกรรมต่อต้าน ยิ่งห้ามก็ยิ่งทำ ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ ก็เพราะรู้สึกเก็บกดจนแสดงอาการต่อต้านออกมา
คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจคุยกับลูกอย่างจริงจังถึงความรู้สึกของลูกและคุณ รับฟัง ไม่ตำหนิ พิจารณาว่าสิ่งไหนที่คุณล้ำเส้นมากเกินไป และลูกอยากได้พื้นที่ส่วนตัวตรงไหน ปล่อยวางความคาดหวังและให้ลูกได้รับผิดชอบตนเองในบางเรื่อง เช่น การออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อน โดยอาจสร้างกติกาที่ยอมรับได้ร่วมกัน เช่น ไม่กลับบ้านเกินกี่ทุ่ม ขณะเดียวกันไม่เพียงแต่ลูกที่ต้องรักษาสัญญาที่มีต่อกัน คุณเองก็ต้องรักษาสัญญาที่ให้กับลูก ไม่ตามไปสอดส่องหรือซักไซ้ไล่เรียงถามรายละเอียดของเพื่อนลูกแต่ละคน
ความห่วงเกินพอดีของคุณจะเบาบางลง เมื่อเห็นว่าลูกของคุณดูแลตัวเองได้อย่างดี ที่ดีกว่านั้นคือการที่สัมพันธภาพในครอบครัวไม่อึดอัดตึงเครียดอีกต่อไป