<strong>สอนลูกให้รอด ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดออนไลน์</strong>

สอนลูกให้รอด ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดออนไลน์

Loading

พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน นอกจากการเลี้ยงดูลูกให้เติบโต ยังต้องระวังภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นได้ทั้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์ 

ลองมาดูสถิติที่มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่าย ทำการสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ 2565 พบผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่างเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี 31,965 คน พบว่า เด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม โดยคนร้ายจะพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปข่มขู่แบล็กเมล 

ทั้งหมดนี้เข้าข่ายพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ โดยการสำรวจพบด้วยว่า เด็กระดับประถมปลายหรืออายุประมาณ 10 ขวบ ถูกล่วงละเมิดทางเพศถึง 12%

สำหรับการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ คนร้ายจะมีรูปแบบและวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปบอกให้ลูกทราบเพื่อระมัดระวังตัว และช่วยสอดส่องการใช้งานสื่อออนไลน์ของลูก ๆ ให้ปลอดภัยได้ด้วย โดยคนร้ายจะมีรูปแบบและวิธีการดังต่อไปนี้ 

ตีสนิทให้ตายใจ

คนร้ายมักจะเข้ามาทำความรู้จัก สร้างความเป็นมิตร ตีสนิทเพื่อให้เด็กตายใจ 

เตรียมการล่วงละเมิด 

เมื่อเด็กตายใจแล้วคนร้ายจะมีการตระเตรียมแผนการเพื่อนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ เช่น เกลี้ยกล่อม ซื้อของให้ เริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ขอให้ถ่ายภาพลับส่งมาให้ ให้เปิดของสงวนให้ดู รวมถึงอาจพูดจาขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย เป็นต้น ซึ่งคนร้ายมักจะแอบบันทึกภาพเหล่านั้นเอาไว้ บางรายมีการสะกดรอยตาม

แบล็กเมล

เมื่อได้คลิปหรือภาพลับจากเด็กแล้ว คนร้ายจะนำคลิปหรือภาพดังกล่าวมาใช้ขู่กรรโชกเด็กเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เช่น แลกกับการส่งคลิปใหม่ ๆ เรียกร้องทรัพย์สิน 

นัดพบเพื่อล่วงละเมิด 

คนร้ายจะใช้ภาพและคลิปขู่บังคับให้เหยื่อยอมออกไปพบ และล่วงละเมิดทางเพศ 

คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมการใช้งานสื่อออนไลน์ของลูก ๆ อยู่เสมอ กำชับไม่ให้ลูกส่งคลิปหรือภาพหวาบหวิวให้ใคร รวมถึงไม่โพสต์ภาพและคลิปเหล่านั้นลงในสื่อสังคมออนไลน์ หรือหากมีใครชวนพูดคุยเรื่องเพศขอให้แจ้งให้พ่อแม่ทราบ และเมื่อเกิดเหตุควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมอื่น ๆ เปลี่ยนไปหรือไม่ เช่น มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย หรือมีแผลในตำแหน่งที่ไม่ควรเกิด มีอาการหวาดกลัว ตกใจง่าย วิตกกังวล ฝันร้าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เก็บตัว ไม่พูดไม่จา หวากระแวงคนแปลกหน้าผิดปกติ หรือกลัวการไปสถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน ซึ่งอาจเป็นสถานที่ที่คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าลูกของคุณอาจเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ

บาดแผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่แต่เพียงร่างกาย แต่จะกลายเป็นแผลทางใจที่มีผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคตทีเดียว