<strong>จัดการ 3 เรื่อง ก่อนชวนลูกคุยเรื่องเพศ</strong>

จัดการ 3 เรื่อง ก่อนชวนลูกคุยเรื่องเพศ

Loading

ถึงแม้ว่าสังคมในปัจจุบันจะตระหนักว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกับลูก แต่หลายครอบครัวกลับไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน ขณะที่ลูก ๆ ก็ไม่กล้าที่จะขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ในบ้าน จึงเลือกที่จะหันหน้าหาเพื่อนในวัยเดียวกันที่ความรู้และทักษะชีวิตแทบไม่แตกต่างกัน และหลายครอบครัวอีกเช่นกันที่เมื่อเริ่มพูดคุยกับลูก กลายเป็นพูดกันไม่รู้เรื่อง บางรายอาจหนักหนาถึงขั้นลูกหันหลังไม่ฟังพ่อแม่

คุยเรื่องเพศดอทคอมมีคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นพูดคุยกับลูกเพศ เรื่องไหนที่ต้องเตรียมพร้อมและจัดการก่อนการคุยเรื่องเพศกับลูก 

1.ทัศนคติ ทัศนคติของพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญในการคุยเรื่องเพศ พ่อแม่หลายคนยังมีความรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องเชิงลบ ลามก หรือเป็นเรื่องสกปรก หรือหากพุดคุยกับลูกจะกลายเป็นชี้โพรงให้กระรอก อีกทั้งบางท่านคิดว่าหน้าที่การให้ความรู้เรื่องเพศกับลูกเป็นหน้าที่ของครูในโรงเรียน ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้เป็นพ่อแม่ควรสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับลูก และเป็นผู้แนะนำในเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้น หรือหากพลาดพลั้งเกิดปัญหา ลูกจะไม่ปิดบังและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่อย่างไม่ลังเล พ่อแม่จึงควรปรับทัศนคติมองเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกโตก่อนจึงจะคุยเรื่องเพศ เมื่อเด็กอายุยังน้อยสามารถสอนเรียกอวัยวะต่างๆ ของร่างกายด้วยชื่อที่ถูกต้อง วิธีการดูแลเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ตลอดจนพื้นที่หวงห้ามที่ไม่ควรให้ผู้ใดแตะต้อง และเมื่อลูกมีคำถามเรื่องเพศพ่อแม่ไม่ควรแสดงปปฏิกิริยาตอบสนองเกินเหตุ หรือทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรถาม ให้พูดคุยเป็นปกติเหมือนเรื่องอื่น ๆ แสดงความชื่นชมและสนับสนุนเมื่อเขาแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ลูกเกิดความไว้วางใจที่จะสื่อสารกับคุณพ่อและคุณแม่อย่างเปิดอก 

2.เพิ่มพูนทักษะรับฟังและสื่อสารเชิงบวก อุปสรรคประการหนึ่งที่ทำให้การคุยเรื่องเพศกับลูกไม่ได้ผล เพราะพ่อและแม่ขาดทักษะการรับฟังและสื่อสารเชิงบวก ทักษะการรับฟังจึงเป็นทักษะเบื้องต้นที่พ่อแม่ต้องมี โดยในการสื่อสารต้องไม่ด่วนตัดสินว่าสิ่งที่เด็กคิดเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ตำหนิ และแสดงความคิดเห็นของตนเองหักล้างในทันทีในเชิงสั่งสอน แต่ควรแสดงออกด้วยท่าทีรับฟังอย่างตั้งใจ ใช้คำถามที่กระตุ้นให้เด็กได้คิดตาม เช่น ทำไมลูกคิดแบบนั้น, ถ้าทำแบบนั้นลูกคิดว่าผลจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เป็นต้น แล้วสอดแทรกคำแนะนำให้เด็ก ๆ ได้มีทางเลือกที่ถูกต้องและทบทวนตาม  นอกจากนี้พ่อแม่ควรหาความรู้ในเรื่องที่จะพูดคุยกับลูกก่อน หรือหากเรื่องไหนที่ไม่รู้ก็ยอมรับว่าไม่รู้ โดยอาจชักชวนลูกไปหาความรู้ด้วยกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แนะนำหรือสอนในเรื่องที่พวกเขาเชี่ยวชาญกว่า เช่น การใช้เครื่องมือสืบค้นออนไลน์ เป็นการแสดงการยอมรับและสร้างความไว้วางใจให้กันและกัน

3.ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลายบ้านตกม้าตายในการคุยเรื่องเพศ เพราะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่แข็งแรง แม้ว่าทั้งพ่อแม่และลูกจะต่างรักและห่วงใยกัน แต่การแสดงออกที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างผลักออกจากกัน เช่น ใช้การบ่น ตำหนิ ประชดประชัน แทนการแสดงออกว่ารักหรือห่วงอย่างจริงใจ เหล่านี้ล้วนทำให้ความสัมพันธ์ถอยห่างจากกัน หรือบางบ้านพ่อแม่ไม่เคยชวนลูกคุยหรือแลกเปลี่ยนความเห็นกันเลย เมื่อเริ่มต้นคุยด้วยเรื่องเพศซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะยิ่งทำให้เด็กไม่กล้าแสดงความเห็น และอาจรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกจับผิดอยู่ก็เป็นได้ กุญแจสำคัญของการคุยเรื่องเพศให้ได้ผลคือความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี ที่ควรสร้างตั้งแต่ลูกยังเล็ก พ่อแม่ควรได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูก ชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าการสื่อสารกับพ่อแม่เป็นเรื่องน่าอึดอัด นอกจากนี้พ่อแม่ควรเข้าใจธรรมชาติของเด็กและวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงกายภาพและความนึกคิด โดยให้นึกย้อนไปถึงในช่วงที่ตนเองอยู่ในช่วงวัยดังกล่าว ที่อาจมีพฤติกรรมไม่ต่างกับลูกในปัจจุบัน เมื่อเกิดความเข้าใจก็จะนำไปสู่การสื่อสารเชิงบวก และพูดคุยเรื่องเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุยเรื่องเพศกับลูกไม่อยากหากพ่อแม่เตรียมพร้อม และจัดการปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคออกไป