บอกลูกให้เข้าใจเมื่อพ่อแม่ต้องแยกทาง

บอกลูกให้เข้าใจเมื่อพ่อแม่ต้องแยกทาง

Loading

เรื่องความรักไม่เข้าใครออกใคร เคยอยู่กันเป็นครอบครัว วันหนึ่งกลับถึงทางตันความสัมพันธ์ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการ “หย่าร้าง” แต่ความรักไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนเหมือนตอนเริ่มต้น เมื่อมีลูกเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “ครอบครัว”

พ่อแม่แยกทางกันนับว่าละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งเด็กบางคนเมื่อรู้ว่าพ่อแม่หย่าร้างกันก็อาจจะตกใจ เสียใจ ตั้งรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา แล้วจะบอกลูกอย่างไร ว่าพ่อกับแม่มาไกลได้แค่นี้

          เวลาที่เหมาะสม ทั้งสถานที่และเวลาในการบอกเรื่องนี้ควรเหมาะสม เพื่อไม่ให้ลูก ๆ รู้สึกอึดอัด โดยสามารถบอกลูกทึกคนพร้อมกันได้ (หากมีลุกหลายคน) แล้วค่อยคุยกับลูกแต่ละคนเพื่อสอบถามความรู้สึกและสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

          บอกความจริง เล่าถึงการตัดสินใจแยกทางกันที่แท้จริงแก่ลูก บอกลูกว่าพ่อกับแม่พยายามหาทางแก้ไขร่วมกันแล้ว แต่การแยกทางกันอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องลงลึกถึงรายละเอียดที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจลูกได้

          ไม่ใช่ความผิดของหนู เด็ก ๆ อาจคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อกับแม่หย่าร้างกัน ควรบอกเหตุผลว่าเป็นการตัดสินใจของพ่อแม่ และให้ความมั่นใจแก่ลูก  ว่าหลังการหย่าร้าง พ่อกับแม่ยังอยู่เคียงข้าง ให้การดูแล และยังรักลูกเหมือนเดิม

          ฟังลูกอย่างลึกซึ้ง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูก หลังจากเรื่องการหย่าร้าง รับฟังความรู้สึกของลูกหากเขาต้องการระบายความรู้สึกออกมา แต่ไม่ควรคาดคั้นเพราะเขาก็อาจกำลังทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ก็ได้ พ่อแม่ควรให้กำลังใจและช่วยให้ลูกได้แสดงความรู้สึกของตนเองออกมา ไม่เก็บความรู้สึกไว้คนเดียว

          บอกแผนชีวิตให้ชัดเจน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เด็ก ๆ ควรได้รู้ถึงแผนที่พ่อแม่วางไว้หลังหย่าร้าง ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย เวลาที่จะใช้กับแต่ละฝ่าย หรือใครเป็นผู้ดูแลลูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนร่วมกันให้ชัดเจนก่อนคุยกับลูก และควรแน่ใจว่าเด็กพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

          ให้ลูกร่วมคิด การหย่าร้างของพ่อแม่ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของลูก ในลูกวัยรุ่นจึงควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องที่กระทบต่อชีวิตตนเอง เช่น การย้ายบ้าน การย้ายโรงเรียน เป็นต้น แต่ไม่ควรกดดันให้เด็กเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นและบอกสิ่งที่ต้องการ

นอกจากการบอกข่าวอย่างระมัดระวังตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ทำเด็ดขาดคือการด่าอีกฝ่ายให้ลูกฟัง หรือการพยายามดึงให้ลูกมาอยู่ฝั่งตนเอง รวมถึงแสดงอาการไม่พอใจเมื่อลูกพูดคุยหรือใกล้ชิดกับอีกฝ่าย เพราะจะทำให้เด็กอึดอัดและวางตัวไม่ถูก ขณะเดียวกันก็ไม่ควรให้ลูกเป็นตัวกลางในการทะเลาะกัน บางคู่ไม่พูดกันแต่ใช้วิธีการสื่อสารผ่านลูกหรือฝากคำพูดไปให้อีกฝั่ง ข้อสำคัญคือ ต้องไม่บังคับให้เด็กเลือกว่าจะอยู่กับใคร ยิ่งการให้เลือกข้างโดยมีพ่อกับแม่ยืนอยู่ต่อหน้า เป็นการกดดันและสร้างความลำบากใจให้ลูกอย่างมาก

          หากลูกยังมีอาการซึมเศร้า โกรธ เสียใจ แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปหลายเดือนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาครอบครัวหรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้ลูกก้าวข้ามปัญหาที่เกิดขึ้นไปได้  และสามารถชีวิตได้อย่างปกติสุข