ลูกไม่ยอมรับผิด เมื่อไปทำผิดนอกบ้าน

ลูกไม่ยอมรับผิด เมื่อไปทำผิดนอกบ้าน

Loading

…”ลูก 7ขวบย่าง8ขวบ เวลาทำผิดไม่ยอมรับผิด เอาแต่ร้องไห้มาฟ้อง เช่น ไปทำขนมหกบ้านเพื่อนบ้าน แต่พอตาเพื่อนบอกต้องรับผิดชอบ น้องกลับวิ่งร้องไห้ร้องห่มมาเหมือนถูกกระทำรุนแรงมา พอไปถามคุณตาถึงเข้าใจ ถ้าคนไม่เข้าใจไม่ทันได้ถามอาจจะทะเลาะกันไปได้ หลายครั้งที่ไม่กล้ารับผิด และร้องไห้ปานจะขาดใจ ถามเพื่อเอาความจริงไม่ได้ค่ะ เหนื่อยมาก”…

การยอมรับผิดถือเป็นความกล้าหาญค่ะ หากลูกยังไม่ยอมรับผิด ก็แปลว่า ลูกคงกลัวมากกว่ากล้า แล้วลูกกลัวอะไร ลูกกลัวการถูกดุแรง การลงโทษที่เกินเหตุ การเสียหน้าหรือความรู้สึกอับอาย

อยากให้ลูกยอมรับผิดได้จริง พ่อแม่ต้องช่วยให้ลูกเลิกกลัวปัจจัยเหล่านั้น

1.พ่อแม่ต้องใจเย็น

อย่ามีท่าทีจ้องเอาผิดเค้นเอาคำตอบ เพราะลูกจะกลัวมาก ๆ พ่อแม่ควรมีท่าทีอยากช่วยแทนนะคะ ให้เราค่อย ๆ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ขอให้ใจเย็น ๆ มีท่าทีอบอุ่น ปลอดภัยค่ะ และหากลูกยังร้องไห้มาก ๆ ยังไม่ยอมพูดอะไร ก็ควรบอกลูกว่า “หนูร้องไห้ แม่ฟังไม่รู้เรื่องเลย ค่อย ๆ เบาเสียงร้องไห้ลง แล้วค่อย ๆ เล่านะ… แม่จะได้เข้าใจและช่วยแก้ปัญหาได้” ท่าทีอยากช่วยและใจเย็นของพ่อแม่ คือ ความปลอดภัยและความไว้วางใจที่ลูกต้องการจากเรา

2. พ่อแม่ไม่ควรจัดการลูก ต่อหน้าคนอื่น

เด็กอายเป็นนะคะ ยิ่งรู้ความแบบนี้ อายแน่นอน ! หากเกิดเรื่องนอกบ้าน ในที่สาธารณะ พ่อแม่ต้องแยกตัวเองกับลูกออกจากบริเวณที่คนมองเห็น จะไปอยู่ที่ลานจอดรถ หรือมุมที่ไม่ค่อยมีคนมองก็ได้ บอกลูกว่า “เราไปคุยกันเอง ที่เงียบ ๆ กันค่ะ” แล้วจูงมือลูกอย่างใจเย็น

หากเกิดเรื่องในบ้าน อย่างเคสนี้ ลูกไปทำเรื่องที่บ้านเพื่อน แต่วิ่งกลับมาที่บ้านเรา ให้พ่อแม่คุยกับลูกที่บ้านตัวเองก่อน อย่าเพิ่งลากไปหาความจริงบ้านเพื่อนนะคะ เพราะเด็กจะกลัวรนรานมากขึ้น เด็กบางคนเกิดเป็นปมในใจก็มี ขอให้พ่อแม่คิดถึงใจเขาใจเรา เราไม่อยากอายยังไง ลูกก็ไม่อยากอาย เหมือนเรานั่นแหละ สอนลูกให้เป็นเด็กดีได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้อาย

3. สร้างบรรยากาศให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกลัวถูกทำโทษเกินจริง เช่น ตี ด่ารุนแรง และขู่

พ่อแม่อย่าลืมว่า คุณตาข้างบ้านได้บอกให้ลูกรับผิดชอบเรื่องขนมมาแล้ว เราในฐานะพ่อแม่ต้องนึกออกว่า ลูกเจออะไรมาบ้าง หมายถึง คุณตาได้พูดกับลูกแบบไหน แบบหยอก ๆ ไม่น่ากลัว หรือ ดุดันน่ากลัวมาก หากพ่อแม่รู้ว่าลูกเจอความน่ากลัวมาแล้ว เราต้องไม่ทำให้ลูกกลัวซ้ำ ไม่เช่นนั้น ลูกจะไร้ที่พึ่งทางใจ

คำว่าไร้ที่พึ่งทางใจ หมายถึง ลูกรู้สึกทางตัน ! พ่อแม่จะต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้ลูก โดยเฉพาะลูกไปทำผิดมาจากข้างนอก ควรช่วยให้ลูกคลายความกลัวลง อย่าเค้นถามจนลูกกลัวมากขึ้น อย่าเร่งรัด ควรให้เวลา และมีท่าทีรับฟังอย่างใจเย็น ความไม่ร้อนรนของพ่อแม่ จะช่วยลดความร้อนรนของลูก ลูกจะรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและจิตใจ

เมื่อความกลัวของลูกลดลง ก็จะช่วยให้ความกล้าหาญทำงาน ลูกจะกล้าเล่าเรื่อง และหมอเชื่อว่า ลูกจะกล้ารับผิดด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้ว เด็กทำขนมหก โดยตัวเรื่องนั้น ไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วยซ้ำ แต่ที่ปฏิกิริยาของลูกคุณแม่แรงขนาดนี้ ก็แปลว่า เขากลัวเกินไป กลัวจนบดบังสติ ลูกจึงไม่สามารถคิดออกว่า เรื่องนี้ มันเล็กนิดเดียว ไม่เห็นต้องกลัวเลย !

ขอให้คุณแม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจขึ้นในบ้านนะคะ ถึงเวลาแล้ว จริง ๆ ค่ะ เมื่อเด็กไม่กลัว (อารมณ์พ่อแม่) ไม่อับอาย และรู้ว่าการลงโทษของพ่อแม่สมเหตุผล เด็กจะพิจารณาได้ว่าเรื่องไหนเรื่องใหญ่ – เรื่องเล็ก และจะไม่กลัวเล่าเรื่องที่ทำผิดมา ทำให้พ่อแม่สามารถสอนลูกได้ทันการณ์

เลี้ยงลูกให้กลัว มีผลข้างเคียงมากมาย เคสนี้เป็นตัวอย่างอนเด็ก ๆ แต่หากเป็นวัยรุ่น อย่าว่าแต่รับผิดเลย อาจไม่กลับมาให้เราดุซ้ำก็ได้ นะคะ

.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์

กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม

เจ้าของแฟนเพจ หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก