เมื่อลูกอกหัก…พ่อแม่จะพาผ่านบทเรียนรักนี้อย่างไร

เมื่อลูกอกหัก…พ่อแม่จะพาผ่านบทเรียนรักนี้อย่างไร

Loading

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นที่เริ่มมีความรักประสบการณ์หนึ่งที่ลูกของคุณอาจต้องเจอคือ “อกหัก” เป็นบาดแผลครั้งแรกจากความรัก คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจหากต้องอยู่เคียงข้างและพาพวกเขาเรียนรู้เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อีกขั้น

คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดใจก่อน ว่าเรื่องรักในวัยรุ่นหรือวัยเรียนเป็นเรื่องธรรมดา ตามพัฒนาการของชีวิตที่พอเข้าสู่วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น เด็กจะเริ่มแสวงหาการยอมรับหรือมีรูปแบบความรักแบบหนุ่มสาว ซึ่งลูกบางบ้านก็อาจเป็น LGBTQN พวกเขาก็มีความรักเช่นเดียวกัน ความรักวัยรุ่นเป็นได้ทั้งสมหวังและไม่สมหวัง ขอให้พ่อแม่ทุกท่านเข้าใจ และยอมรับว่าความรักเป็นความรู้สึกพื้นฐานที่ ไม่ควรห้ามปราม หรือคัดค้านความรักของลูก แต่ควรทำให้เขารู้สึกภูมิใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้กับลูกคือ บทบาทของตนเอง และการปฏิบัติกับคนรักอย่างเหมาะสม เช่น การให้เกียรติกัน ไม่ทำสิ่งที่เป็นการล่วงละเมิดอีกฝ่าย เป็นต้น

เมื่อได้รับความรักลูกของคุณจะรู้สึกมีพลังและมีคุณค่า ในทางกลับกันเมื่อไม่สมหวังในรัก พวกเขาก็จะรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีคุณค่า ตัวตนถูกทำลาย อาจส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของวัยรุ่นได้มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในความสัมพันธ์ เด็กอาจแสดงออกเป็นความเกรี้ยวกราด ขณะที่เด็กบางคนมักจะรู้สึกเจ็บปวดและไร้ค่า พ่อแม่ควรสังเกตอาการทางด้านร่างกายของลูก หากอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดท้อง ปวดหัวจากความเครียด อาจต้องพาไปพบแพทย์

•พาลูกก้าวข้ามประสบการณ์รักร้าวในวัยรุ่น•

          ลูกเป็นคนสำคัญ พ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญและมีคุณค่ามากพอสำหรับความรัก โดยเฉพาะจากพ่อแม่และครอบครัว หลีกเลี่ยงใช้คำว่า “ใครไม่รักพ่อแม่รัก ไม่เห็นต้องเสียใจ” หรือ “มัวแต่ร้องไห้เพราะคนอื่น ทั้งที่พ่อแม่รักลูกมาก” เพราะคำเหล่านี้อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณไม่ยอมรับหรือรับรู้การเสียใจของเขา

          พร้อมรับฟัง การเปิดพื้นที่รับฟังอย่างตั้งใจและจริงใจ โดยไม่ตัดสิน พูดแทรก หรือเอาแต่สอน เป็นวิธีดีที่สุดที่ทำให้ลูกรับรู้ว่าเขาเป็นที่รัก และพ่อแม่พร้อมที่จะอยู่ข้าง ๆ ด้วยความเข้าใจ

          เคารพการตัดสินใจของลูก ทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนที่ดี ไม่ตัดสินสิ่งที่ลูกทำแต่ให้กำลังใจ หากสิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องผิดหรือส่งผลเสีย แต่หากเห็นว่าการตัดสินใจของลูกอาจสร้างปัญหาตามมาได้ภายหลัง ให้รอเวลาให้ลูกรู้สึกดีขึ้น แล้วค่อยชวนคุยอีกครั้ง โดยอาจเสนอทางเลือกอื่นแล้วชวนให้ลูกคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในแต่ละทางเลือก เป็นการฝึกให้ลูกมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยไม่ใช้การสอนหรือการชี้นำจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นการช่วยให้เขาเรียนรู้และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างดี

         ปล่อยให้รู้สึก วัยรุ่นเองก็อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เศร้า หรืออิจฉา พ่อแม่อาจช่วยทบทวนความรู้สึกลูกด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น ตอนนี้ลูกโกรธหรือเสียใจมากกว่ากัน“ลูกรู้สึกแบบนี้ จะทำอย่างไร” “มีอะไรที่พ่อแม่ช่วยได้ไหม พร้อมรับฟังคำตอบจากลูก สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดคือการ ห้ามลูกรู้สึกเศร้า หรือห้ามร้องไห้ เมื่อลูกรู้สึกดีขึ้นก็ยินดีกับลูก แต่หากเขาจะกลับมาเศร้าเป็นครั้งคราวก็ยอมรับ เพราะความรู้สึกเช่นนี้อาจใช้เวลาสักพักจึงจะดีขึ้น

          อยู่เคียงข้าง ชวนลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ไปซื้อกับข้าวด้วยกัน โดยไม่บังคับและไม่ล้ำเส้นความเป็นส่วนตัว สมาชิกในบ้านอาจซื้อของกินที่เขาชอบ หรือทำสิ่งเรื่องพิเศษให้เขา เช่น ร่วมทำกิจกรรมที่เขาชอบ หรือซื้อขนมที่เขาอยากกินมาให้ เป็นต้น ก็จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น

การอยู่เคียงข้างและพาลูกก้าวข้ามความรู้สึกแย่ ๆ ในช่วงวัยรุ่น จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกหมดคุณค่าหรือสูญเสียตัวตนไป โดยมีความรักจากพ่อแม่และคนในครอบครัวเป็นยาขนานเอก อย่าลืมว่า รักในวัยเรียนไม่ใช่เรื่องต้องถูกตำหนิ เป็นเรื่องธรรมชาติตามช่วงวัยที่พวกเราพ่อแม่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกับลูก