4 Do 4 Don’t เคารพพื้นที่ส่วนตัวของลูกวัยรุ่น

4 Do 4 Don’t เคารพพื้นที่ส่วนตัวของลูกวัยรุ่น

Loading

คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องรู้สึกใจหาย เมื่อเจ้าตัวเล็กในบ้านเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จากที่เคยนัวเนียพัวพันอยู่กับพ่อแม่ กลับตีตัวออกห่างขอแยกห้องนอน หรือมีบางเรื่องที่เหมือนกับไม่อยากให้พ่อแม่รับรู้ ไม่ต้องตกใจหรือเสียใจไป เพราะเมื่อลูกของคุณเริ่มก้าวเข้าสู่วัยรุ่น “พื้นที่ส่วนตัว” จะกลายเป็นพื้นที่ที่ลูกน้อยของคุณให้ความสำคัญ

            นั่นเป็นเพราะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ความสนใจหรือทัศนคติที่มีต่อบางเรื่องของลูกจะเปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่เป็นเด็กเล็ก รวมทั้งการพัฒนาการทางด้านร่างกาย และการต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจกับบางเรื่องในช่วงวัยดังกล่าว การมีพื้นที่ส่วนตัวของวัยรุ่นจึงไม่ใช่การกันพ่อแม่ออกจากชีวิต หรือการปิดบังอำพราง เพราะการมีพื้นที่ส่วนตัวจะทำให้เด็ก ๆ ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง หรือมีอิสระในการทบทวน หรือใช้ชีวิตในบางเรื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเขาเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตด้วย

            พื้นที่ส่วนตัวสำหรับวัยรุ่น คือการกำหนดขอบเขตของตนเองหรือการแยกระยะห่างกับผู้อื่น ทั้งทางกายภาพและความรู้สึกนึกคิด ซึ่งครอบครัวที่มีความเอาใจใส่ดูแล รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน โดยไม่ก้าวก่ายขอบเขตความเป็นส่วนตัวกันนั้น มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี แต่ครอบครัวที่ไม่มีขอบเขตความสัมพันธ์ที่แน่ชัด พ่อแม่คอยกำกับบงการชีวิตลูก สุ่มเสี่ยงที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะยุ่งเหยิงวุ่นวาย เพราะเด็กจะขาดความมั่นใจและขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

            พ่อแม่จึงพึงระวังเรื่อง “ควร” และ “ไม่ควร” ในการดูแลลูกวัยรุ่น เพื่อไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของลูกเกินขอบเขตที่เหมาะสม

<<Do>>

  1. ให้อิสระพื้นที่ส่วนตัว เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อลูกเริ่มเติบโต ลูกก็มักอยากจะแยกตัวอิสระจากการถูกจับตาของพ่อแม่ ดังนั้น หากลูกจะขอไปใช้เวลากับเพื่อนหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุดบ้าง ก็ควรสร้างกติการ่วมกัน ให้ลูกบอกสถานที่ เวลากลับบ้าน หรือเพื่อนที่ไปด้วยกันให้พ่อแม่รับรู้ทุกครั้ง

  2. สังเกตแต่ไม่กำกับ พ่อแม่ต้องเลิกพฤติกรรมการเป็น “ผู้กำกับ” หรือคอยบอกให้ลูกทำตามคำสั่ง แต่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สังเกตแทน โดยสังเกตพฤติกรรมการใช้เวลาดูโทรทัศน์และใช้ Social Media ของลูก เพื่อป้องกันการรับข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หรือใช้สื่อไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร กำหนดกติกาการใช้เวลาดูโทรทัศน์เล่นโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ในแต่ละวันร่วมกันทั้งพ่อแม่และลูก และต้องเคารพกฎที่สร้างร่วมกันทุกคน หากพ่อแม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์อยู่ในเครือข่ายเดียวกับลูก พึงระมัดระวังการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจจะเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของลูกโดยไม่ตั้งใจ เมื่อลูกประสบปัญหาพ่อกับแม่ต้องแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่าพร้อมร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทัน

  3. วางความคาดหวัง ไม่คาดหวังว่าลูกจะเปิดเผยทุกเรื่องกับครอบครัว และไม่กดดันให้ลูกเล่าในสิ่งที่เขาไม่อยากเล่า หากพบพฤติกรรมที่ผิดปกติ มีท่าทีวิตกกังวล ไม่สบายใจ พ่อแม่อาจสอบถามสาเหตุและให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาด้วยท่าทีเอาใจใส่ แต่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกบังคับให้พูดออกมา

  4. ให้ความเชื่อมั่น เปลี่ยนวิธีการดูแลจากการสอนหรือตีกรอบ มาเป็นให้ความเชื่อมั่น โดยให้ลูกแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะต่อประเด็นต่าง ๆ พ่อแม่ควรเป็นผู้ฟังที่ดี และพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ชี้แนวทางที่เหมาะสมให้ลูกได้พิจารณา และแสดงความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งเป็นการเลี้ยงดูที่ช่วยสร้างความเชื่อใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

<<Don’t>>

  1. ไม่เป็นเจ้าชีวิตลูก คอยจัดการและมีข้อกำหนดให้ลูกทุกอย่าง จนลูกไม่เหลือพื้นที่อิสระที่จะเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ลูกอึดอัดและจะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างครอบครัวให้ห่างออกไป ในครอบครัวจึงควรพูดคุยเรื่องขอบเขตความเป็นส่วนตัว หรือมีข้อตกลงในการใช้เวลา เช่น เวลาไหนเป็นเวลาส่วนตัว และเวลาไหนที่ต้องแบ่งเวลามาใช้ร่วมกันในครอบครัว เป็นต้น

  1. ห้าม! ทุกเรื่อง การมีข้อห้ามหรือบังคับลูกมากเกินไป ทำให้ลูกรู้สึกกดดัน ที่สำคัญการปล่อยให้ลูกได้ออกไปใช้ชีวิตเพื่อลองผิดลองถูกด้วยตนเองในบางเรื่อง ทำให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง การออกคำสั่งห้ามในบางเรื่องจึงเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ของลูกไปโดยปริยาย

  2. ต้องรู้ทุกเรื่องของลูก พ่อแม่ไม่ควรอยากรู้ทุกเรื่องของลูกมากเกินไป พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้าน จึงไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายในพื้นที่ส่วนตัวของลูก เช่น ไม่เปิดอ่านสมุดบันทึก ข้อความ อีเมล หรือเปิดดูโทรศัพท์มือถือของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่คาดคั้นให้เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกต่อต้านไม่เปิดรับให้พ่อแม่เข้าไปในพื้นที่ของเขา หากเป็นห่วงควรใช้วิธีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเล่าความผิดพลาดในช่วงวัยรุ่นของตัวเองให้ลูกฟังก่อน แล้วให้ลูกเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกันและกัน จะช่วยสร้างความไว้วางใจให้ลูกเพิ่มขึ้นได้

  1. รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ห้องนอน ควรขออนุญาตหรือบอกให้ลูกรู้ตัว ด้วยการเคาะประตู และหากเข้าไปจัดเก็บข้าว ย้ายสิ่งของก็ควรบอกให้ลูกรู้ทุกครั้ง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการเคารพพื้นที่วนตัวของผู้อื่นด้วย