เปลี่ยนความคาดหวังเป็นพลังผลักดันลูกสู่เส้นชัย

เปลี่ยนความคาดหวังเป็นพลังผลักดันลูกสู่เส้นชัย

Loading

เมื่อมีลูกพ่อแม่ทุกคนต่างอยากเห็นเจ้าตัวเล็กซึ่งเป็นสุดที่รัก ดำเนินชีวิตได้อย่างที่พ่อแม่หวัง ซึ่งการที่พ่อแม่จะมีความคาดหวังกับลูกไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างไร แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ อย่าให้ความคาดหวังที่มีนั้น กลายเป็นความกดดันที่ลูกต้องแบกรับไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว และทำลายความสุขของลูกลงได้ เพื่อไม่ให้ความคาดหวังที่มีไปทำร้ายลูก เรามาเรียนรู้ถึงความคาดหวังอย่างพอดีร่วมกัน

          คาดหวังได้แต่ให้ตรงศักยภาพลูก การจะวางความคาดหวังให้ตรงกับศักยภาพของลูกนั้น เริ่มต้นจากการจัดสรรเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะพ่อแม่ควรสังเกตถึงความสามารถของลูก ว่าเขาถนัดสิ่งใด มีความสามารถด้านใดเป็นพิเศษ และเรื่องใดที่ลูกไม่ถนัด เพื่อไม่ให้เกิดความคาดหวังในเรื่องนั้น ๆ แต่ในเรื่องที่เขามีถนัดหรือชื่นชอบ พ่อกับแม่ก็จะได้ทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้เขาเกิดการพัฒนาในด้านนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่พาเขาไปพบกับความสำเร็จในอนาคตได้ อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจร่วมกันทั้งครอบครัว

            คาดหวังแบบพร้อมใจเดินไปพร้อม ๆ กัน ความคาดหวังแบบนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจกันทั้งพ่อแม่และลูก โดยต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดการ “แชร์” ระหว่างพ่อแม่ลูก ให้ลูกได้แสดงออกถึงความคาดหวังของตัวเองว่าเขาอยากมีชีวิตแบบไหน ขณะที่พ่อแม่ก็เปิดเผยถึงความรู้สึกได้ว่าคาดหวังให้เขาเติบโตเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร เพื่อให้ลูกเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในความคาดหวังนั้น แล้วพูดคุยกันถึงแนวทางที่เป็นไปได้ที่จะดำเนินไป โดยไม่บังคับกดดันให้ได้อย่างใจพ่อแม่ ซึ่งการพูดคุยถึงเรื่องความคาดหวังนี้ควรคุยกันเป็นประจำ จะช่วยลดความกดดันภายในครอบครัวลงได้ โดยพ่อแม่สามารถให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งความคาดหวัง เช่น การเลือกเส้นทางการเรียน กําหนดผลการเรียนที่สามารถทําได้ร่วมด้วย ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลดีอย่างมาก ถึงแม้ว่าต่างฝ่ายต่างมีความคาดหวัง แต่ก็เป็นความคาดหวังที่เข้าใจกัน ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้มแข็งขึ้นด้วย

          คาดหวังแต่พอดีไม่มากล้นจนกดดัน ความคาดหวังที่สูงเกินความสามารถของลูกมักจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกกดดัน พ่อแม่ต้องยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน เด็กบางคนอาจมีความสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้หลายอย่าง ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือเรื่องอื่น ๆ แต่แม้พวกเขาจะทำได้ก็อาจจะอยู่ในจำกัดด้านความสามารถ การคาดหวังว่าลูกจะต้องทำได้เกินความสามารถมีแต่จะทำให้เด็กรู้สึกกดดัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่โรคทางจิตเวชต่าง ๆ ตามมาได้ ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า ดังนั้น พ่อแม่จึงควรมีความคาดหวังให้พอเหมาะกับความสามารถของลูก เพื่อเป็นแรงหนุนให้เด็ก ๆ ได้ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็จะมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะไม่รู้สึกผิดหวังกับเรื่องที่หวังไว้มากเกินไปด้วย แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรับบทบาทมาเป็นฝ่ายให้การสนับสนุน คอยช่วยเหลือเมื่อลูกผิดพลาด และวางความคาดหวังของตนเองไว้บนความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมจะดีกว่า

⋅เช็กสัญญานคุณกำลังใช้ความคาดหวังกดดันลูกหรือไม่?⋅

          ติมากกว่าชม : คุณมักมีคำตำหนิให้ลูกมากกว่าชม คำติที่มากเกินไปจะกลายเป็นความกดดัน ควรมองด้านดีของลูกและแสดงคำชื่นชม

          ชอบเปรียบเทียบ : คุณมักเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับคนอื่น ๆ และตอกย้ำให้ลูกพยายามแข่งขันเอาชนะอยู่ตลอดเวลา ควรสอนให้เขาพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น

          หงุดหงิดบ่อยเพราะผิดหวัง : เมื่อไหร่ที่ลูกทำไม่ได้ดั่งใจ คุณจะรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันทีอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นอาการของพ่อแม่ที่ชอบกดดันและคาดหวังลูกมากเกินไป คุณควรชื่นชมพึงพอใจกับความพยายามของลูก และให้กำลังใจไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร

          ควบคุมทุกอย่าง : การควบคุมเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ที่มีความคาดหวังกับลูกสูงมักปฏิบัติ เพราะการคาดหวังก็มักมาพร้อมกับการควบคุม แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องเล่นก็ยังบังคับ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดและไม่เป็นอิสระ และอาจเป็นคนขาดความมั่นใจเมื่อโตขึ้น ควรให้เด็กได้ลองผิดลองถูก และเห็นผลลัพธ์ในสิ่งที่เขาทำด้วยตัวเองจะดีกว่า

           วางความคาดหวังของตัวเองลงแล้วทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ที่พร้อมเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับความคาดหวังของเด็ก ๆ เอง คือบันไดแห่งความสำเร็จที่แท้จริง