“วัยรุ่นตามเพื่อน ไม่ตามพ่อ” ไม่ใช่ปัญหาหากเข้าใจ

“วัยรุ่นตามเพื่อน ไม่ตามพ่อ” ไม่ใช่ปัญหาหากเข้าใจ

Loading

พอลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังสูญเสียตำแหน่ง “คนโปรด” ให้กับเพื่อนของลูกแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะอาการติดเพื่อนเกิดขึ้นได้กับลูกวัยรุ่นของทุกครอบครัว เหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากอะไร เรามีคำตอบมาบอกกับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน

ช่วงวัยสร้างตัวตน

         ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ กำลังค้นหาตัวเองและแสวงหาอัตลักษณ์ของตนเอง จากที่เคยพึ่งพาและมีพ่อแม่เป็นพิมพ์เขียวให้เลียนแบบ ช่วงวัยนี้เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้ถึงสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และพร้อมจะลองผิดลองถูกเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งประสบการณ์ทั้งล้มเหลวและสัมฤทธิ์ผลในช่วงวัยนี้ จะสั่งสมและหล่อหลอมขึ้นมาเป็นตัวตนของเขาในอนาคต ดังนั้น พ่อแม่อย่าเพิ่งเสียใจหากลูกจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะพวกเขากำลังเรียนรู้และสร้างเส้นทางของตนเอง

สร้างการยอมรับ

         สังคมของเด็กวัยรุ่นทำให้พวกเขาแตกต่างจากตอนเป็นเด็กเล็กของพ่อแม่ พวกเขาอยากจะทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น และอยากเป็นอิสระจากพ่อแม่ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพัฒนาการทางอารมณ์ของช่วงวัยดังกล่าว บางครั้งการแสดงออกของเด็กวัยรุ่นจะมีความโน้มเอียงไปกับกลุ่มเพื่อนมากกว่ามาทางฝั่งพ่อแม่ นั่นก็เพราะวัยรุ่นต้องการการยอมรับจากเพื่อน ๆ ซึ่งการมีกลุ่มเพื่อนจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาวุฒิภาวะ เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น พ่อแม่ควรเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยนี้ เพื่อวางพื้นฐานที่ดีในการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง แต่ใช่ว่าเด็กวัยรุ่นจะไม่ต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ ลองมอบหมายงานบางอย่างให้ลูกวัยรุ่นรับผิดชอบ เด็ก ๆ จะพยายามอย่างเต็มที่เมื่อได้รับโอกาส แม้ผลที่ออกมาอาจจะไม่ดีเท่ากับทำเอง ก็อย่าเพิ่งตำหนิ ขอให้ชื่นชม และให้กำลังใจ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับของพ่อแม่รูปแบบหนึ่ง

รับมือวัยรุ่น ว้าวุ่นเอาแต่ใจ

          ภาวะการทำติดเพื่อน แม้จะช่วยพัฒนาตัวตนของเด็ก ๆ แต่ก็จำเป็นต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม บางครั้งเด็กอาจแสดงพฤติกรรมท้าทาย และเอาแต่ใจตัวเองเกินพอดี ซึ่งก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นจนไร้ขีดจำกัด พ่อแม่จึงต้องมีวิธีการรับมือที่ทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกควบคุม และประคับประคองให้เขาเดินอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสม

          1.เข้าใจพฤติกรรมวัยรุ่น พ่อแม่ควรเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงกายภาพและภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นเพื่อสร้างความเข้าใจ และหาวิธีสื่อสารกับลูกได้อย่างเหมาะสม พ่อแม่ควรไตร่ตรองกับตัวเองว่าเรื่องไหนไม่สามารถปล่อยลูกทำตามอำเภอใจได้ และเรื่องไหนอะลุ่มอะล่วยได้ ซึ่งพ่อและแม่ควรเห็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะหากพ่อแม่เห็นคนละทางจะทำให้เด็กสับสน และรับฟังเหตุผลในการทำหรือไม่ทำสิ่งใดของลูกอย่างจริงใจโดยไม่ตัดสิน แต่ยืนยันในกฎเกณฑ์ที่พึงทำ ด้วยท่าทีอ่อนโยน ซึ่งบางเรื่องควรกำหนดกติการ่วมกันในครอบครัวอย่างชัดเจน เช่น เวลาในการใช้เครื่องมือสื่อสาร เวลาเข้านอน เป็นต้น เพราะเรื่องบางเรื่องหากไม่ดูแลจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก ขณะเดียวกันพ่อและแม่ต้องไม่ละเลยที่จะปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการเคารพกติกาที่ทำร่วมกันกับลูก จะทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ

          2.เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก วัยรุ่นถือว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่จึงไม่ควรซักไซร้ไล่เบี้ยอยากรู้ทุกย่างก้าวของลูก หรือสอดแหนมพฤติกรรมของเด็ก ๆ จนละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด เช่น การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ หากลูกไม่พร้อมให้ติดตามก็ต้องไม่บังคับ แต่อาจให้เหตุผลถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อขอให้ลูกพิจารณาและรอเวลาที่เขาพร้อม  และเมื่อเขาอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ของเขา พ่อและแม่ก็ไม่ควรไปเข้มงวดหรือแสดงออกในพื้นที่สังคมของลูกจนอึดอัด เมื่อพ่อแม่เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก เขาก็จะเคารพกติกาของพ่อแม่เช่นกัน

          3.สนับสนุนให้ได้เรียนรู้ เปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เป็นการสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้เพื่อเติบโต การปิดกั้นไม่ให้เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำอาจทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ  ไม่ได้รับการพัฒนา และอาจส่งผลให้มีปัญหาด้านวุฒิภาวะตามมา

          4.ไม่ซ้ำเติมเมื่อผิดพลาด ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอในช่วงวัยรุ่นที่อยู่ในวัยกำลังเติบซึ่งประสบการณ์ที่สั่งสมจะกลายเป็นตัวตนของเขาในอนาคต หากพ่อแม่คอยแต่ตำหนิ ตัดสิน และซ้ำเติม จะทำให้วัยรุ่นเกิดความไม่มั่นใจ และไม่เชื่อว่าผู้อื่นยอมรับตัวตน กลายเป็นปมปัญหาชีวิตในอนาคตได้

ไม่ว่าลูกจะตามใครก็ไม่ใช่ปัญหา เมื่อพ่อแม่คอยทำหน้าที่พี่เลี้ยงอยู่ข้างสนามชีวิตด้วยความเข้าใจ