Do-Don’t ต้องรู้ สร้างสัมพันธ์ลูกวัยรุ่น

Do-Don’t ต้องรู้ สร้างสัมพันธ์ลูกวัยรุ่น

Loading

เมื่อเจ้าตัวเล็กที่บ้าน เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่บางบ้านอาจถึงขั้นกุมขมับ จากที่เคยมีเวลาอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ก็เริ่มตีตัวออกห่างใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น ช่องว่างระหว่างครอบครัวยิ่งขยับออกห่างกันทุกที เรามีคำแนะนำสิ่งที่พ่อแม่ “ควรทำ” และ “ไม่ควรทำ” เพื่อสร้างสัมพันธภาพกับลูกวัยทีนด้วยความเข้าใจ กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันเหมือนเดิม

<<<Do>>>

          1.เปิดใจให้คำแนะนำ การสอนแบบที่เคยใช้เมื่อตอนยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ขณะเดียวกันพฤติกรรมของลูกวัยรุ่นก็อาจจะขัดใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือเปิดใจมองสถานการณ์ที่ลูกต้องเผชิญ หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่สำหรับชีวิตวัยรุ่น ซึ่งตอนที่พ่อแม่เป็นวัยรุ่นก็เจอความท้าทายแบบเดียวกัน พ่อแม่จึงควรเปิดใจรับฟังและมองปัญหาด้วยมุมของลูก ไม่ใช่มุมของตนเอง และให้คำแนะนำที่ชัดเจนสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง พูดให้สั้นและกระชับ เพื่อไม่เขารู้สึกว่ากำลังถูกบ่น

          2.มอบหมายบทบาทสำคัญ ชีวิตวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแล้ว ยังต้องการสร้างตัวตนและการยอมรับจากสังคม และพ่อแม่ด้วย แต่วัยรุ่นอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเด็กกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงอาจสับสนบทบาทของตัวเอง พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้ สร้างความมั่นใจให้ลูกโดยเปิดโอกาสให้เข้ามาช่วยเหลือคุณในบางเรื่อง หรือให้เขาสอนคุณในเรื่องที่เขาชำนาญ เช่น การใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยี เป็นต้น เป็นช่องทางช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัวและยังเป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกับลูก เพื่อรับรู้มุมมองใหม่ๆ จากลูกวัยรุ่น ที่จะทำให้เข้าใจโลกของพวกเขามากขึ้นด้วย

          3.ผิดพลาดบ้างก็ได้ หลายครั้งที่คนเป็นพ่อแม่ไม่ยอมรับว่าตัวเองทำเรื่องผิดพลาด หรือไม่ต้องการให้ลูกได้เห็นด้านที่ล้มเหลวหรืออ่อนแอของตนเอง แต่คุณสามารถจะแบ่งปันความล้มเหลว หรือยอมรับว่าตนเองได้ทำเรื่องผิดพลาดกับลูกบ้างก็ได้ เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าทุกคนต่างเคยผิดพลาด และต้องเรียนรู้การรับมือกับความผิดพลาด การที่คุณเปิดเผยความผิดพลาดของตนเองต่อลูก จะทำให้เด็ก ๆ ไม่รู้สึกกดดัน ว่าหากเขามีเรื่องผิดพลาดจะทำให้พ่อแม่ผิดหวังจนไม่กล้าบอก หรือขอคำปรึกษา และเมื่อลูกรับฟังปัญหาที่คุณเล่าให้ฟัง อย่าลืมขอบคุณพวกเขาที่รับฟัง และเป็นผู้รับฟังที่ดีเช่นกัน เมื่อลูกวัยรุ่นมีเรื่องมาเล่าให้ฟัง การรับฟังกันและกันจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น

          4.งดหงุดหงิดง่าย ความคาดหวังที่มีกับลูกวัยรุ่นอาจทำให้คุณหงุดหงิดง่ายขึ้น เมื่อพบเห็นพฤติกรรมที่คุณอาจจะไม่ถูกใจ เช่น เถียง หรือใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรศัพท์มากเกินไป พ่อแม่วัยรุ่นควรวางคาดหวังลง มองหาสาเหตุของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไร หากตัวคุณเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็หาทางปรับเปลี่ยน เช่น เวลาที่ลูกต้องการใช้เวลากับคุณ คุณได้จัดสรรเวลาให้พวกเขาหรือไม่ หรือเมื่อลูกแสดงความเห็นคุณไม่ได้รับฟังเขาอย่างเปิดใจ และมักจะพูดตัดบทสนทนาลูกด้วยความคิดเห็นของตนเอง เป็นต้น ดังนั้น ขอให้มองข้ามพฤติกรรมที่เห็นไปก่อนอย่าเพิ่งหงุดหงิด และมองหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด

          5.เลี่ยงออกคำสั่ง-ตำหนิ รอยร้าวของครอบครัวบางครั้งก็เกิดจากความห่วงใยและความรัก ซึ่งพ่อแม่หลายบ้านมักแสดงออกด้วยการออกคำสั่ง หรือเริ่มต้นด้วยการตำหนิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นกำแพงที่ทำให้ลูกไม่อยากเข้าใกล้ หากคุณเป็นห่วงควรบอกกับลูกตรง ๆ ว่าคุณเป็นห่วง และให้ความเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถดูแลตนเองได้ เมื่อลูกวัยรุ่นแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตเขาให้ฟัง ขอให้คุณฟังอย่างตั้งใจ จับอารมณ์ของลูก บางครั้งเขาอาจแค่แบ่งปันไม่ได้ขอคำปรึกษา ก็ควรแค่รับฟัง แต่หากเรื่องราวนั้นทำให้คุณกังวล อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ควรออกคำสั่งหรือใช้คำตำหนิ หรือตัดสิน เพราะจะทำให้เด็กไม่เล่าเรื่องอะไรให้ฟังอีก

<<<Don’t>>>

          1.อย่าทำเหมือนเขาเป็นเด็กเล็ก วัยรุ่นต้องการให้พ่อแม่มองเขาว่าโตเป็นผู้ใหญ่ที่จะตัดสินใจหรือทำเรื่องใด ๆ แบบที่ผู้ใหญ่ทำได้แล้ว ดังนั้น การบอกสอนแบบที่เคยปฏิบัติกับลูกจึงควรเปลี่ยนไปเป็นการรับฟัง ให้ข้อเสนอแนะ เป็นที่ปรึกษาแต่ไม่ใช่การคาดหวังว่าลูกต้องปฏิบัติตามสิ่งที่เราคิดเสมอไป

           2.อย่าคิดว่าเขาทำไม่ได้ การคิดว่าลูกทำไม่ได้จะเป็นการปิดโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการออกคำสั่งห้ามหรือบอกว่าไม่ควรทำ เพราะนั่นเสมือนคำท้าทายที่ทำให้ลูกวัยรุ่นอยากทำสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ถูกห้าม พ่อแม่จึงควรเปิดโอกาสให้เขาลองทำโดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ชี้แนะแนวทางที่เหมาะสม

          3.อย่าพูดซ้ำซาก การจ้ำจี้จ้ำไช พูดซ้ำในเรื่องเดิม ๆ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ไว้วางใจ พ่อแม่ควรเปลี่ยนท่าที โดยมอบความไว้วางใจด้วยการมอบหมายความรับผิดชอบบางอย่างให้ลูก และเชื่อว่าลูกจะทำให้เสร็จตามที่ลูกรับปากได้ เมื่อลูกทำได้ตามที่รับปาก ก็ควรกล่าวคำชื่นชม

          4.อย่าผูกขาดการพูด บทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นคือการเป็นผู้ฟังที่ดี หากลูกพูดแล้วพ่อแม่ไม่ฟัง โอกาสที่เขาจะเลือกวิธีการไม่สื่อสารกับพ่อแม่จะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย แต่หากพ่อแม่รับฟังเขาอย่างจริงใจ ด้วยความตั้งใจและเข้าใจ จะนำไปสู่ความไว้วางใจ ลูกจะพร้อมแบ่งปันเรื่องราวในชีวิต หรือขอคำปรึกษาจากพ่อและแม่อย่างไม่ปิดบัง

          5.อย่าเอาแต่ตำหนิ เมื่อไม่เห็นด้วยกับลูก ไม่ควรออกปากตำหนิในทันที อาจใช้วิธีแลกเปลี่ยน สอบถาม หรือยกตัวอย่างว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกได้คิดตาม และพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งการแลกเปลี่ยนควรใช้น้ำเสียงที่เป็นมิตรและอ่อนโยน