เรื่องเพศต้องพูด เพื่อเรียนรู้เรื่องสิทธิ

เรื่องเพศต้องพูด เพื่อเรียนรู้เรื่องสิทธิ

Loading

แม้ว่าปัจจุบันในสังคมไทยการพูดคุยเรื่องเพศจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่พ่อแม่บางคนไม่รู้จะเริ่มต้นคุยกับลูกเรื่องเพศอย่างไร และเมื่อไม่กล้าพูดเรื่องเพศ ความไว้วางใจของลูกที่จะเปิดอกพูดคุยกับพ่อเม่ในเรื่องดังกล่าวก็ลดน้อยลงไปด้วย การให้ความรู้เรื่องสิทธิทางเพศที่เด็ก ๆ ควรมีก็ลดน้อยลงไปด้วย และอาจส่งผลให้เด็ก ๆ ถูกละเมิดทางเพศได้โดยไม่รู้ตัว

            สำหรับ ความหมายของคำว่า เพศ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “ชาย” หรือ “หญิง” เท่านั้น แต่ในทางทฤษฎี เพศมีความหมาย 3 ความหมาย คือ  1. เพศสรีระ (Sex) 2. เพศภาวะ (Gender) และ 3. เพศวิถี (Sexuality) ดังนั้นในการเรียนรู้เรื่องเพศ จึงต้องครอบคลุมทั้ง 3 ประเด็นด้วย

            การสอนลูกเรื่องการเคารพความแตกต่างทางเพศ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนได้ตั้งแต่ลูกเริ่มรู้จักความแตกต่างของเพศ คือ เด็กจะเริ่มรู้จักเพศของตนเองตอนอายุประมาณ 3 ปี การสอนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กวัยนี้คือ การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กผู้หญิงจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมแม่ ในขณะที่เด็กผู้ชายจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมพ่อ ซึ่งจะเป็นพัฒนาการที่ค่อยๆพัฒนาในช่วงอายุ 4-6 ปี เด็กจะสังเกตวิธีที่พ่อและแม่ปฏิบัติต่อกัน และคุณพ่อคุณแม่จะสามารถเริ่มพูดบอกพฤติกรรมที่เด็กควรปฏิบัติต่อเพื่อนเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน เช่น เด็กผู้ชายควรเป็นสุภาพบุรุษ แต่เด็กจะยังไม่เข้าใจคำว่าสุภาพบุรุษเพราะเป็นนามธรรม

นอกจากนี้การให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่อง “สิทธิทางเพศ” ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิทธิทางเพศเป็นสิทธิของเด็กทุกคน ที่ต้องได้รับโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่มีการบังคับ และไม่มีการใช้ความรุนแรงในเรื่องการได้รับบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีมาตรฐานม, ได้รับข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิถีทางเพศ, ได้รับการให้การศึกษาเรื่องเพศวิถีศึกษา, การควบคุมเนื้อตัวร่างกายของตนเอง, การเลือกคู่ครอง, การตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์, การสมัครใจมีความสัมพันธ์ทางเพศ, การสมัครใจที่จะแต่งงาน, การตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่และมีเมื่อใด และการมีชีวิตด้านเพศที่พึงพอใจและปลอดภัย

             ในประเทศไทยพบว่าแนวโน้มสถิติการละเมิดทางเพศในเด็ก และวัยรุ่นยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การถูกล่อลวงทางอินเตอร์เนทมากขึ้น การป้องกันที่สำคัญคือ การดูแลใกล้ชิดของผู้ปกครอง ทั้งการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต สอดส่องเว็บไซต์ที่เข้าใช้งาน และการฝึกให้ลูกมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการป้องกันตนเอง มีทักษะการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นในระดับที่เหมาะสม มีทักษะการปฏิเสธ มีความสามารถในการวิเคราะห์คน ตัดสินใจเลือกหรือสามารถปรึกษาผู้ใหญ่ได้ ผู้ปกครองควรทำความรู้จักลูกเพื่อน หรือคนที่ลูกไปไหนมาไหนด้วย สถิติพบว่าเด็กมักถูกล่วงละเมิดทางเพศในช่วงที่ผู้ปกครองไม่อยู่หรือไปในสถานที่ที่มีไม่มีผู้ใหญ่ดูแล

เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ เรามีเทคนิคสอนลูกให้ปลอดภัย มานำเสนอให้กับคุณพ่อคุณแม่นำไปใช้พูดคุยกับลูก ๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

8 เทคนิค “พูดเรื่องเพศกับลูก” ไม่ให้ถูกล่วงละเมิด

          1.สอนให้รู้จักร่างกาย ให้ลูกเรียนรู้อวัยวะในร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศ ช่วงที่เด็กเริ่มเรียกอวัยวะได้ สอนเรียกอวัยวะเพศด้วยชื่อที่เด็กเข้าใจ ไม่ต้องเป็นชื่อทางการ และสอนคำเรียกที่ถูกต้องเมื่อถึงวัยที่ลูกรู้ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง เพราะหากเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า จะได้อธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจตรงกัน

           2.บอกพื้นที่ส่วนตัว บอกลูกว่าส่วนไหนบนร่างกายที่ผู้อื่นห้ามสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ และเมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วพ่อแม่ต้องคอยดูแล แนะนำ โดยให้ระมัดระวังการสัมผัสร่างกายของลูก และให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว เช่น การแยกห้องนอน

           3.ย้ำสิทธิในร่างกายตัวเอง ย้ำกับลูกเสมอว่าลูกมีสิทธิในร่างกายของลูกคนเดียวเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิสัมผัส ยกเว้นเพื่อทำความสะอาดหรือการรักษาจากแพทย์ ต้องกล้าบอกไปว่าไม่ชอบหรือไม่พอใจ เมื่อมีคนมาสัมผัส

           4.สอนให้รู้จักปฏิเสธ ถ้ามีคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มาสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกาย สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ และอาจจะส่งเสียงขอความช่วยเหลือดัง ๆ และวิ่งหนีโดยไม่ต้องเกรงใจ

           5.บอกสัมผัสที่ปลอดภัย บอกลูกว่าสัมผัสแบบใดคือสัมผัสที่ปลอดภัย สามารถทำได้ เช่น สัมผัสของ พ่อแม่ ญาติ พี่เลี้ยง จำเป็นต้องช่วยลูกในการทำความสะอาดร่างกาย สัมผัสของแพทย์เพื่อตรวจรักษาร่างกาย หรือการสัมผัสของครูในบางวิชาเรียนอาจเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย

           6.อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า สอนลูกว่าอย่าไว้ใจคนเเปลกหน้าที่มาคุยเด็ดขาด ถึงเเม้คนเหล่านั้นจะมีสิ่งของหรือขนมมาให้ ห้ามกินเด็ดขาด หรืออ้างว่ารู้จักกับพ่อเเม่ก็ไม่ต้องเกรงใจ แม้ว่าจะเป็นคนที่เด็กเคารพ เพราะคนที่ทำอนาจารเด็กอาจเป็นคนใกล้ชิด

           7.ไม่ใจอ่อนหรือปิดบัง กำชับลูกเสมอไม่ทำตามคำขอร้องหรือข่มขู่ หากลูกไม่พอใจในสิ่งที่ถูกกระทำ ให้บอกพ่อแม่ทันที ไม่ต้องปิดเป็นความลับ ให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่สามารถปกป้องเขาได้

           8.พูดคุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หาบรรยากาศสบาย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจตนเอง และความหมายการล่วงละเมิด สิทธิที่จะปกป้องตัวเอง หากลูกสงสัยจะได้ถามพ่อแม่ได้ตรง ๆ ไม่รู้สึกกดดัน เพื่อที่ลูกเกิดความวางใจและมั่นใจ

ข้อควรระวัง!!

การออกคำสั่ง “ห้าม” ไม่ใช่ทางออก เพราะอาจกลายเป็นการส่งเสริมที่จะทำให้ลูกวัยรุ่นยิ่งอยากรู้ อยากลอง และนำไปสู่การถูกล่วงละเมิดหรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยโดยไม่ตั้งใจ พ่อแม่ต้องฝึกลูกให้รู้จัก คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม กับสิ่งรอบตัว เปิดโอกาสให้ค้นหาคำตอบที่เหมาะสมสำหรับตนเอง และเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือกและทำ การสร้างบรรยากาศในบ้านที่เปิดกว้างให้ลูกในการพูดคุยเรื่องเพศและทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยจึงเป็นวิธีที่ได้ผลกว่า

          เมื่อเกิดการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและวัยรุ่น ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายอาญา โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องมีการแจ้งความตามกฎหมาย และควรพาเด็กไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หรืออย่างช้าภายในเวลา 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อตรวจร่างกาย เก็บหลักฐานและป้องกันการตั้งครรภ์

          เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจมีทั้งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ จึงควรได้รับการช่วยเหลือดูแลต่อเนื่องโดยบุคลากรสาธารณสุข หรือบุคลากรทางจิตเวช ช่วงหลังเหตุการณ์การถูกละเมิดทางเพศ เด็กอาจมีผลกระทบทางจิตใจที่รุนแรง และเสี่ยงการทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตาย ผู้ปกครองควรดูแลด้วยความเข้าใจ อย่างใกล้ชิด เก็บของมีคม ยาหรือสารเคมีที่เด็กสามารถนำมาใช้ทำร้ายตนเองได้ หลีกเลี่ยงการพูดในเชิงตำหนิซ้ำ หรือการพูดที่ยิ่งทำให้เด็กเสียกำลังใจ

พ่อแม่ต้องสังเกตเด็กอาจแสดงออกเป็นอาการทางกาย โดยไม่รู้สาเหตุ เช่น ปวดศีรษะ ร้องไห้ นอนไม่หลับหรืออาจมีอาการซึมเศร้า หวาดกลัว โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจากคนที่อยู่ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว จะมีความกดดันทางร่างกาย และอารมณ์อย่างมาก บางทีอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน

            เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศซ้ำ ๆ หรือมีเหตุการณ์ที่ถูกใช้ความรุนแรงร่วม จะมีบาดแผลภายในอาจอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ บางรายฝังความทรงจำไว้ในจิตใต้สำนึก จำเหตุการณ์ใด ๆ ไม่ได้ แต่ยังมีอาการแสดงได้ เช่น หวาดกลัวผู้ชายที่มีลักษณะคล้ายคลึงผู้กระทำ ไม่สามารถมีชีวิตคู่ได้ หรือมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพหรือการทำงาน

            หากเด็กหรือวัยรุ่นเป็นผู้กระทำผิดทางเพศเอง เด็กจำเป็นต้องได้รับการประเมินและบำบัดโดยจิตแพทย์และทีมสุขภาพจิต เพื่อการประเมินหาสาเหตุ การบำบัดและป้องกันการกระทำผิดซ้ำทุกราย