ลด Gapความต่างของช่วงวัย สื่อสารอย่างไรให้บ้านสงบสุข

ลด Gapความต่างของช่วงวัย สื่อสารอย่างไรให้บ้านสงบสุข

Loading

“บ้านลุกเป็นไฟ” น่าจะเป็นสภาวะที่หลายบ้านเคยเจอผู้ใหญ่บอกขวา เด็กบอกซ้าย ผู้ใหญ่พูดคำ เด็กพูดคำ พูดคุยกันไม่กี่ประโยคก็เปลี่ยนเป็นการทำสงครามกันด้วยบทสนทนา ทะเลาะเถียงกันจนบ้านกลายเป็น “สมรภูมิรบ” นั่นเพราะเด็กมีการเติบโตทุกวัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เห็นได้ชัดแล้ว เด็กๆ ยังมีการเติบโตทางความคิดและความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งผู้ใหญ่จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย นอกจากการต้องการความเข้าใจแล้ว เด็กยังต้องการต้นแบบการพูดสื่อสารเชิงบวกในการให้คำแนะนำกระตุ้นความคิดเชิงคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อให้พร้อมสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า

มาเรียนรู้วิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัยกัน…เพราะเดี๋ยวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

 วัยเตาะแตะ (น้อยกว่า 5 ปี)

วัยเตาะแตะหรือวัยเด็กเล็กวัยนี้กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาด้านภาษาและการสื่อสาร เลียนแบบภาษาและการโต้ตอบจากบุคคลรอบตัว แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องอารมณ์หรือเรื่องที่เป็นนามธรรม การสื่อสารกับเด็กวัยนี้จึงต้องใช้ภาษาที่ง่าย ชัดเจน สั้น กระชับ และตรงประเด็น ซึ่งหากเจ้าตัวเล็กไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารมักจะตีความจากภาษากาย พ่อและแม่จึงควรใช้ภาษากายให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เด็กสับสน เมื่อต้องการตักเตือน นอกจากคำพูด สีหน้า น้ำเสียงยังต้องหนักแน่นจริงจังด้วย กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ดีสำหรับเจ้าหนูวัยเตาะแตะคือการเล่นหรือเล่านิทานให้ฟังจะทำให้เกิดการพัฒนาด้านภาษา ไม่ควรทิ้งไว้กับโทรทัศน์ มือถือ หรือแท็บเล็ต เพราะเจ้าตัวเล็กจะเกิดพัฒนาการที่ผิดเพี้ยนเช่น พูดจาภาษาการ์ตูน

วัยแรกรุ่น (8-11 ปี)

วัยเรียนก่อนเข้าสู่วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มมีพัฒนาด้านภาษา การใช้เหตุผลและการสื่อสารใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ สามารถบอกความต้องการ ความคิด ความรู้สึกของตนเองได้ พ่อแม่จึงชวนคุยในหัวข้อที่กระตุ้นความคิดเชิงวิเคราะห์ มองในมุมต่างๆมากขึ้น เพื่อให้ลูกได้เกิดกระบวนการเรียนรู้เข้าใจตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี มีคำถามย้อนกลับเพื่อกระตุ้นให้คิดต่อ หรือให้เด็กได้สะท้อนอารมณ์ตนเอง เช่น เรื่องนี้ลูกรู้สึกอย่างไร หนูเสียใจไหมเพื่อนทำแบบนั้นการช่วยให้เด็กวัยนี้สังเกตอารมณ์ความรู้สึก ความคิดของตนเอง จะทำให้พวกเขาเข้าใจอารมณ์ตนเองเมื่อมีปัญหาและจัดการอารมณ์ของตนเองได้เหมาะสม

วัยรุ่น

          วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่กำลังค้นหาความเป็นตัวเองก่อนก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จึงมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพไปมาได้ง่าย เราจึงเห็นเด็กวัยนี้เลียนแบบดารา หรือเพื่อน สิ่งสำคัญสำหรับคนเป็นพ่อแม่คือ ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เปิดพื้นที่ทางความคิดให้เขา โดยเน้นการรับฟังมากขึ้น ยอมรับความเห็นของลูกที่แตกต่างแม้พวกเขาจะเห็นต่างจากพ่อแม่ ซึ่งการแสดงความเห็นหรือการอธิบายเหตุผลต่าง ๆ ต้องไม่ใช้อารมณ์ บางครั้งพ่อแม่ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นเพื่อนของลูกแทนสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับลูกวัยรุ่นคือ ต้องไม่ตัดสินหรือตำหนิว่าความคิดของเขาผิด แต่ควรถามถึงเหตุผลหรือมุมมองต่อเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้คำแนะนำหรือเสนอแนะมุมมองอื่นที่เป็นทางเลือกให้ และให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจ ลองผิดลองถูกเรียนรู้จากการตัดสินใจของตนเอง

ตัวอย่างสถานการณ์: ลูกสาววัยรุ่น (A) มาปรึกษาแม่เรื่องเพื่อนชาย (B) ชวนไปดูหนัง

                   “สิ่งแรกที่แม่ต้องทำคือ ตั้งสติ ตั้งใจฟัง แล้วตั้งคำถาม”

          แม่: แล้วลูกอยากไปหรือเปล่า?

          A :ก็อยากไปนะคะแม่ เพราะเรื่องนี้หนูอยากดู

          แม่: แล้วมีอะไรที่ลูกกังวลใจหรือเปล่าคะ(สะท้อนความรู้สึก)

          A:หนูกลัวว่ามันจะดูไม่ดี เพราะไปกับ B แค่สองคน แล้วเค้าเป็นผู้ชาย ถึงเค้าจะเป็นคนนิสัยดีก็เถอะ

          แม่: แล้วลูกคิดว่า ที่ B เขาชวน เขาคิดยังไงคะ(ถามมุมมอง ความคิด)

          A :หนูก็ไม่แน่ใจค่ะ พักนี้ชอบเข้ามาคุยกับหนูบ่อยๆ เพื่อนบอกว่าเขาน่าจะมาจีบ งั้นหนูควรปฏิเสธเขาไปเลย ดีไหมคะแม่

          แม่: แม่ดีใจนะที่มีอะไร ลูกก็กล้ามาปรึกษาแม่ วิธีปฏิเสธก็เป็นอีกทางเนอะ ถ้าหนูยังอึดอัดใจ ความคิดของแม่ ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นเพื่อนที่ดี เราก็คบเขาเป็นเพื่อน ชวนเพื่อนคนอื่นๆไปดูด้วยกันหลายคนก็สนุกดีนะ ลูกคิดว่ายังไง(แนะนำ เสนอทางเลือก ไม่ตัดสิน)

           A:จริงด้วยงั้นหนูชวนเพื่อนคนอื่นด้วยไปด้วยดีกว่า ขอบคุณค่ะแม่

          แม่: ช่วงวัยรุ่น ลูกอาจเริ่มรู้สึกพิเศษกับใครเกินเพื่อน ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องปกติที่มาพร้อมกับความเป็นวัยรุ่น ถ้าลูกรู้สึกแบบนั้นเมื่อไร แม่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้แม่อยากให้ลูกเล่าให้แม่ฟัง เราจะได้ช่วยกันดู แม่อยากให้ลูกมีความสุข แต่ก็ปลอดภัยนะจ๊ะ

คุยกับพ่อแม่…ไม่ได้แย่หรอก ‘วัยรุ่น’

เครียด เบื่อถูกบ่น แม่ก็ไม่เข้าใจ พ่อก็ไม่เข้าข้าง เป็นปัญหาของวัยรุ่นทุกคน ต้องเข้าใจท่านหน่อย เพราะเรา ต่างเคยเป็นเบบี๋ตัวเล็ก ๆ ให้ท่านอุ้มท่านกอด จนบางทีคุณพ่อคุณแม่ก็ลืมไปว่าคุณโตแล้ว หากเรา“เปิดใจกว้าง” มองพ่อแม่ด้วยความเข้าใจต่อความรักแบบพ่อแม่พ่อแม่อาจไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองเพื่อยอมเรา

ได้ทั้งหมดเรื่องอย่างนี้ต้องเดินคนละครึ่งทาง ต่างต้องเรียนรู้และปรับตัว หากติกา ข้อตกลงที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย

อย่าเพิ่ง “หัวเสีย”หากผู้ใหญ่ในบ้านตำหนิข้อด้อยข้อเสียของเรา ลองรับฟังแล้วนำกลับมาวิเคราะห์ ว่ายังมีจุดไหนที่เรายังดีขึ้นได้อีกหากเราเปิดใจที่จะรับฟังเราจะรู้ว่าบางครั้งช่วงวัยรุ่นเราก็ต่อต้านผู้ใหญ่ไปอย่างนั้นเอง ทั้งๆที่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆที่อยากจะทำสิ่งไม่น่ารัก ลองปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ใช่ตัวเองลงนึกถึงบุคลิกภาพที่เราอยากเป็น สื่อสารให้พ่อแม่เข้าใจด้วยเหตุและผล การใช้อารมณ์ โวยวาย และคร่ำครวญ ยิ่งทำให้พ่อแม่ไม่เข้าใจ และเกิดความกังวลใจสงสัยในตัวคุณ

ช่องว่างระหว่างวัยแก้ได้ด้วยการเปิดใจรับฟังทั้งสองฝ่าย เปลี่ยนบ้านที่เคยเป็น “สมรภูมิรบ” ให้เป็น “สมรภูมิรัก” ด้วยการสื่อสารที่เข้าใจกัน