5 วิธี ตอบเรื่องเพศกับลูกให้ถูกหลัก

5 วิธี ตอบเรื่องเพศกับลูกให้ถูกหลัก

Loading

พ่อแม่มักคิดว่าคนที่จะคุยเรื่องเพศได้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นหมอ ครู หรือนักจิตวิทยา สรุปคือ พ่อแม่คิดว่าต้องเป็นคนที่มีความรู้ ตอบได้ทุกคำถาม ความจริงแล้วการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกพ่อแม่สามารถทำได้ เพียงแค่รู้หลักการไม่กี่ข้อ

1.ตอบตรงไปตรงมา พ่อแม่ไม่ควรตอบเลี่ยง ๆ หรือโกหก เพราะจะสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีกับลูก เช่น เมื่อลูกถามว่า “หนูเกิดมาจากไหน?” ก็ไม่ควรโกหกว่า “เก็บมาจากถังขยะ” หรือ “เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่”
คำตอบแบบนี้รู้หรือไม่ว่า อาจทำให้ลูกรู้สึกน้อยใจพ่อแม่ได้ จนเป็นปมอยู่ในใจ กว่าจะเข้าใจก็โตแล้ว ทำไมเราต้องให้ลูกอยู่กับความน้อยใจแบบนี้ด้วย?

2.ตอบให้เหมาะสมกับวัย เด็ก ๆ จะมีความสนใจเรื่องเพศ และความสามารถในการทำความเข้าใจเรื่องเพศแตกต่างกันไปตามช่วงวัย เช่น
     • เด็กวัยก่อนเข้าเรียน (3-4ปี) จะสนใจเรื่องความแตกต่างกันของสรีระร่างกาย อย่างเด็กผู้ชายจะมีจู๋ เด็กผู้หญิงมีจิ๋ม มักเปรียบเทียบร่างกายของตัวเองกับของคนอื่น แต่ยังแยกบทบาทระหว่างเพศไม่ได้ เด็กวัยนี้ไม่ต้องการคำตอบซับซ้อน พ่อแม่แค่ให้คำตอบที่เป็นความจริงกับลูกสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ต้องให้เหตุผลยืดยาว เพราะลูกแค่อยากรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นไปทุกอย่างในโลกตามวัย เหมือนอยากรู้ว่าฝนมาจากไหน แล้วทำไมวัวถึงร้องมอ ๆ เท่านั้น
     • เด็กวัยเรียน (5-8ปี) เริ่มมีสังคมของตัวเอง และเรียนรู้พฤติกรรมจากเพื่อน เริ่มแยกบทบาทสมมติ เช่น ผู้ชายคือสามี/พ่อ ผู้หญิงคือ ภรรยา/แม่ เริ่มต้องการความเป็นส่วนตัว เริ่มสนใจเรื่องเพศที่ซับซ้อนขึ้น เช่น อวัยวะแต่ละส่วนมีหน้าที่อะไร ทำไมผู้หญิงจึงตั้งท้องได้ เป็นโอกาสที่จะเริ่มคุยกับลูกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ก่อนที่จะเข้าวัยรุ่นเป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูก
เด็กวัยนี้สามารถฟังคำอธิบายที่ซับซ้อนได้มากขึ้น แต่ก็ควรพูดให้เด็กเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน เห็นผลกระทบที่ตามมา เช่น เมื่อเข้าวัยรุ่น ลูกอัณฑะจะใหญ่ขึ้นและมีอสุจิ สามารถทำให้ผู้หญิงตั้งท้องได้ ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะเริ่มมีประจำเดือน รังไข่จะผลิตไข่ทำให้ตั้งท้องได้ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
     • วัยรุ่น (13-17ปี) เด็กวัยนี้ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อารมณ์ ถูกคาดหวังให้ตัดสินใจและเริ่มรับผิดชอบชีวิตตัวเอง จึงเป็นช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว วัยนี้จะให้ความสำคัญกับการเป็น “พวกเดียวกัน” อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม กลัวความแปลกแยก “แตกต่าง” และจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน คำถามของวัยรุ่นมักเกี่ยวกับภาพลักษณ์และค่านิยมเรื่องเพศ เช่น “ผู้หญิงหน้าอกใหญ่แสดงว่ามีความต้องการทางเพศสู.ใช่ไหม?” “ผู้ชายมีแฟนหลายคนเป็นเรื่องปกติ?”
พ่อแม่ควรพูดคุยให้เขารู้จักเคารพทุกเพศ รู้สึกมั่นใจที่จะแตกต่าง รวมทั้งให้ความรู้เรื่องการป้องกันทั้งการตั้งท้องและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

3.คำตอบช่วยให้ลูกรู้สึกดีกับร่างกายตัวเอง คำตอบของพ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้สึกดีกับร่างกายตัวเอง เพราะจะเป็นพื้นฐานให้เขาแสวงหาข้อมูลและดูแลตัวเอง เช่น เมื่อลูกถามเรื่องประจำเดือนไม่ควรตอบว่าเป็นเลือดเสียหรือสกปรก เพราะจะทำให้ลูกไม่มั่นใจ รังเกียจอวัยวะเพศและเลือดประจำเดือนของตัวเอง ไม่กล้าซื้อ/พกผ้าอนามัย คุณควรตอบไปตามข้อเท็จจริงที่ว่า “ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย แต่เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง” หรือเมื่อลูกเล็ก ๆ สัมผัสอวัยวะเพศก็ไม่ควรดุ ตี หรือห้ามปราม แต่ควรสอนเรื่องความเป็นส่วนตัว เช่น “เป็นของส่วนตัวนะลูก อย่าเปิดให้คนอื่นดู อย่าให้คนอื่นจับ” ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ รู้จักดูแลร่างกายเมื่อโตขึ้น

4.คำตอบทำให้ลูกมั่นใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง เด็กทุกวัยมักจะถามเรื่องความแตกต่างและกังวลที่ตัวเองไม่เหมือนเพื่อน เด็กเล็กมักถามว่า ทำไมผู้ชายมีจู๋ ผู้หญิงมีจิ๋ม เด็กโตขึ้นมาหน่อยอาจถามว่า อวัยวะเพศของเขาจะเหมือนของเพื่อนไหม ส่วนวัยรุ่นจะถามเกี่ยวกับความสวย ความงาม เช่น ทำไมหนูมีสิว เพื่อน ๆ ไม่มีสิว ทำไมหนูหน้าอกเล็กกว่าเพื่อน ทำไมผมมีขนที่ขาเยอะกว่าเพื่อน เมื่อเจอคำถามลักษณะนี้คุณควรตอบให้ลูกมั่นใจว่า “คนทุกคนล้วนแตกต่างกัน ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีสรีระร่างกายเหมือนกันทั้งหมด ย่อมมีความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ และเป็นเรื่องดีที่เราจะแตกต่าง” คุณควรอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของแต่ละคนนั้น เร็วช้าต่างกัน เป็นเรื่องปกติ แต่ในที่สุดทุกคนก็จะมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เหมือนกัน

5.คำตอบต้องไม่ทำร้ายคนอื่น บางครั้งเด็ก ๆ จะสงสัยเมื่อเห็นคนที่มีบุคลิกแตกต่างจากคนทั่วไปในสังคม เช่น ขณะลูกดูทีวีอาจถามว่า “ทำไมผู้ชายคนนั้นเขาแต่งตัวเป็นผู้หญิง?” คุณควรให้คำตอบที่สร้างความเข้าใจและเคารพสิทธิของคนอื่น เช่น คุณอาจตอบไปว่า การแต่งกายเป็นเรื่องของรสนิยม คนเราสามารถเลือดได้ว่าชอบแต่งตัวแบบไหน การแต่งกายต่างจากคนอื่น ๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดี หรือหากลูกถามว่า “ทำไมเด็กผู้หญิงคนนี้ตั้งท้องแล้วยังไปเรียนหนังสือได้อีก?” คุณอาจให้คำตอบเกี่ยวกับการตั้งท้องว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และถามกลับด้วยว่า “ถ้าลูกเป็นเด็กคนนั้น ลูกจะรู้สึกอย่างไร ยังอยากเรียนหนังสือไหม?” เพื่อให้ลูกเปิดใจกว้าง เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ดูถูกคนอื่น