ผ่าแนวคิด ‘Beauty Standard’ ที่อาจทำให้ทุกคนต้องเจ็บปวด

ผ่าแนวคิด ‘Beauty Standard’ ที่อาจทำให้ทุกคนต้องเจ็บปวด

Loading

คุณคิดว่าคุณสวยหรือไม่…หากลองโยนคำถามนี้ลงไปกลางวงสนทนาใดๆ ก็ตาม อาจจะมีกลุ่มคน 20 เปอร์เซนต์ที่ยอมรับว่าตนเองนั้นมีหน้าตาที่ดูดี อีก 30 เปอร์เซนต์ที่แบ่งรับแบ่งสู้ และอีกครึ่งนึงที่สวนคำตอบอย่างทันควันว่าตัวเองนั้นไม่ใช่คนดูดี แต่เพราะเหตุใดคนกว่าครึ่งเหล่านั้นจึงจำยอมรับความไม่สวยของตนเองโดยทันที นั่นอาจเพราะในสังคมมี ‘ค่ามาตรฐานความงาม’ (beauty standard) เป็นเส้นสมมุติที่กำหนดกรอบจำกัดว่าอะไรที่ดูดี และอะไรที่ไม่ใช่ แต่รู้หรือไม่ว่าค่ามาตรฐานความงามมาจากไหน และใครเป็นผู้กำหนด

Beauty standard คืออะไร

ค่ามาตรฐานความงาม หรือ beauty standard คือสิ่งที่สังคมใดสังคมหนึ่งยอมรับว่าเป็นความสวยงามอย่างอุดมคติ โดยรูปแบบความงามนั้นอาจรับเอามาจากวัฒนธรรมอื่น หรืออาจจะเกิดจากการกำหนดเกณฑ์โดยเพศตรงข้าม เมื่อความนิยมของค่ามาตรฐานความนั้นมีมากขึ้นก็จะถูกยอมรับและเผยแพร่มาตรฐานนี้ต่อกันไป จึงทำให้แต่ละวัฒนธรรมมีค่ามาตรฐานความงามที่ต่างกัน หรืออาจจะคล้ายคลึงกันได้

จะเห็นว่าค่ามาตรฐานความงามที่เราได้รับรู้มาคือการกำหนดกะเกณฑ์โดยมนุษย์ด้วยกันเองทั้งสิ้น โดยไม่ได้ยืนบนหลักความเป็นจริง หรือการชั่งตวงวัดที่จะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งนี้คือความงามที่มากกว่า น้อยกว่า หรือไม่งาม แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังจะยึดถือค่ามาตรฐานความงามดังกล่าวเพื่อให้ตัวเองใกล้แตะถึงมาตรฐาน หรือสูงกว่ามาตรฐานเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือเพื่อให้เพศตรงข้ามเกิดความสนใจมากขึ้น

ค่ามาตรฐานความงามในวัฒนธรรมต่าง ๆ

ขาว รูปร่างเล็ก และดูอ่อนหวาน นี่คือคงจะเป็นมาตรฐานความงามของหญิงไทยที่ถูกกำหนดขึ้นโดยเพศตรงข้าม และจุดกระแสการรับรู้โดยสื่อ จึงไม่น่าประหลาดใจที่เมื่อผู้หญิงที่ผิวแทน มีความมั่นใจ และแต่งตัวเซ็กซี่จะถูกเปรียบเทียบทันทีว่าเหมาะควรจะมีคู่เป็นชาวต่างชาติมากกว่า เพราะเธอผู้นั้นมีความงามที่ไม่ตรงตามมาตรฐานการยอมรับของไทย

เมื่อฉายภาพไปที่สังคมเกาหลีใต้ ค่ามาตรฐานความงามที่มีอาจจะไม่ได้ต่างกับไทยมากนักเพราะไทยเองก็ได้รับอิทธิพลความงามจากเกาหลีใต้ผ่านทางอุตสาหกรรมบันเทิงที่เติบโตพอกันกับอุตสาหกรรมความงาม แต่ในระยะหลังหน้าสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ก็เริ่มเปิดรับความงามใหม่ที่เน้นถึงเอกลักษณ์บุคคลมากขึ้น แต่ก็ยังถูกครอบด้วยค่านิยมบางประการเช่นต้องมีรูปหน้าที่เก๋ รูปร่างที่ดี และมีสไตล์

ฟากตะวันตกแม้มาตรฐานความงามอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจ แต่ก็ไม่ได้หายไปจากวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง แต่แปรเปลี่ยนจากค่ามาตรฐานความงามหนึ่งเดียว เป็นหลายมาตรฐานแล้วแต่ที่ใครจะเลือกหยิบมาตรฐานความงามรูปแบบใดมาเป็นมาตรวัดของตนเอง เช่นการมีรูปร่างแบบนาฬิกาทราย สะโพกผาย เอวคอด พร้อมสีผิวแทนละเอียดแบบบ้านคาร์ดาเชียน, การมีรูปร่างสูง สมส่วน และไม่ผอมแห้งจนเกินไป หรือจะมีรูปร่างอวบแต่มีสไตล์ พร้อมด้วยสุขภาพที่ดี ดังเช่นต้นแบบของสาวอวบอย่าง Ashley Graham เป็นต้น

เพราะอะไรเราจึงเจ็บปวดจาก beauty standard

แน่นอนว่าเมื่อคุณไม่ได้มีความงามตรงตามค่ามาตรฐาน การถูกยอมรับผ่านการตัดสินจากภายนอกอาจจะยากมากขึ้น อาจจะเกินเลยไปจนถึงขั้นถูกตัดสินจากคนอื่นในประเด็นที่แตกต่างออกไป เช่น คุณอาจถูกตัดสินว่าไม่รักตัวเอง, อาจถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนที่ค่าความงามตามมาตรฐาน อาจถูกเลือกปฏิบัติโดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรืออาจจะกลายเป็นปัญหารุนแรงถึงการล้อเลียนจนทำให้เกิดความอับอาย ส่งผลโดยตรงถึงสุขภาพจิตที่อาจทำให้ซึมเศร้า หรือตัดสินใจผิด ๆเกี่ยวกับการศัลยกรรมเพียงเพื่อให้ตนเองเป็นที่พึงพอใจในสายตาผู้อื่น

แต่มิใช่เพียงผู้ที่มีความงามที่ไม่ตรงตามมาตรฐานเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในเมื่อปัจจุบันกระแสเรียกร้องให้เกิดการยอมรับความงามที่หลากหลายเริ่มถูกพูดถึงในสังคมมากขึ้น ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงความจริงของมาตรฐานความงาม จนเกิดกระแสการโต้กลับไปถึงคนที่มีความงามตามมาตรฐานผ่านการใช้คำพูดเหน็บแนม ประชดประชัน หรือการประเมินความสามารถในด้านอื่นๆ ของคนที่มีความงามตามมาตรฐานไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพียงเพราะมีความเชื่อฝังหัวกันมาว่าคนที่มีความงามตามมาตรฐานนั้นมีดีแค่ความสวย

สุดท้ายแล้วสิ่งที่อาจจะต้องคำนึงมากกว่าการมีอยู่ของความงามมาตรฐานนั่นคือ ‘การยอมรับในความต่าง’ โดยที่ไม่ต้องมีข้อแม้ใดๆ เพียงแค่เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนล้วนประกอบสร้างมาด้วยความแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็คือมนุษย์เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีใครเจ็บปวดกับค่ามาตรฐานความงามที่เป็นภาพลวงตาอีกต่อไป

.

ขอบคุณข้อมูลจาก
VOGUE THAILAND