สาว ๆ รู้หรือยัง ทำบันทึกประจำเดือนมีแต่เรื่องดี๊ ดี

สาว ๆ รู้หรือยัง ทำบันทึกประจำเดือนมีแต่เรื่องดี๊ ดี

Loading

วันนั้นของเดือนอาจสร้างความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ให้กับคุณผู้หญิง ทั้งเรื่องไม่มาตามนัด หรือมาในวันที่มีกิจกรรมผจญภัยท่องเที่ยวให้ต้องคอยกังวล เราจึงอยากชวนคุณผู้หญิงมาทำบันทึกการมีประจำเดือน หรือ “ปฏิทินรอบเดือน” ด้วยกัน เพราะการทำปฏิทินรอบเดือน มี “ดี” อยู่หลายเรื่องด้วยกัน

รู้วันนั้นของเดือน

            การทำบันทึกรอบเดือนก็เหมือนการบันทึกเรื่องอื่น ๆ ที่เราสามารถกลับมาสำรวจตรวจทานตัวเองได้ การจดบันทึกรอบเดือนเป็นประจำจะทำให้เราคาดการณ์ได้ ว่าวันนั้นของเดือนจะมาในช่วงไหน จะเป็นตัวช่วยในการวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมโลดโผนช่วงวันนั้นของเดือ จะช่วยให้สาว ๆ ไม่ต้องกังวลกับการซึมเปื้อนลงไปได้ รวมถึงช่วยในการเตรียมพร้อมหาผ้าอนามัยติดตัวไว้ในช่วงใกล้แดงเดือดให้พร้อมใช้เมื่อวันนั้นมาถึง

เช็กสัญญาณร่างกายผิดปกติ

            ความสม่ำเสมอของประจำเดือน หรือการทิ้งช่วงถี่ห่างของการมีรอบเดือนเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่สามารถบอกได้ว่าร่างกายของเราอาจผิดปกติ เช่น มีความวิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเป้นสัญญาณที่เตือนเราว่ามีความเสี่ยงต่อโรคนรีเวชบางอย่างอยู่ ซึ่งการทำปฏิทินรอบเดือน จะช่วยให้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นได้

คัมภีร์วางแผนมีบุตร

          ปฏิทินรอบเดือนช่วยให้เรารู้ว่าช่วงไหนที่ไข่ตก ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ที่วางแผนจะมีลูกรู้ว่าควรทำกิจกรรมกันวันไหน ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ โดยไข่จะตก 14 วันก่อนที่รอบเดือนครั้งถัดไปจะมา

คุมกำเนิดแบบไม่มีต้นทุน

          ในหญิงสาวที่มีระยะรอบเดือนสม่ำเสมอ (ย้ำว่าสม่ำเสมอ) สามารถใช้การนับระยะปลอดภัย หน้า 7 หลัง 7 ในการช่วยคุมกำเนิดได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์หรือยาคุมกำเนิด แต่หากจะใช้วิธีนี้ควรตระหนักเสมอว่าเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ และอาจพลาดพลั้งตั้งครรภ์ได้  ซึ่งควรมีการจดบันทึกรอบเดือนไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้เห็นระยะเวลาไข่ตกที่ชัดเจนขึ้น เพราะในแต่ละเดือนรอบเดือนอาจมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งจะส่งผลให้การนับระยะปลอดภัยคาดเคลื่อนไปได้ด้วยเช่นกัน

เห็นข้อดีของการทำบันทึกรอบเดือนแล้ว มาดูวิธีการนับรอบเดือนเพื่อทำบันทึกข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สำหรับการนับให้เริ่มนับวันแรกที่ประจำเดือนมาเป็นวันที่หนึ่ง และนับไปจนถึงวันแรกที่มีประจำเดือนของเดือนถัดไป จำนวนวันที่นับได้เท่ากับระยะรอบเดือนของเรา โดยระยะห่างของรอบเดือนโดยปกติส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ 21-35 วัน แต่หากระยะเวลามากกว่าหรือน้อยกว่านี้ มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น และเมื่อรู้ระยะรอบเดือนของตนเองก็จะทราบว่า วันนั้นของเดือนจะตรงกับช่วงวันไหน หากมีความคลาดเคลื่อนหรือผิดปกติจะสามารถรู้ได้ทันที นับเป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยคุณผู้หญิงสังเกตร่างกายของตนเองในช่วงก่อนและหลังการมีประจำเดือนได้ดี หากเกิดความผิดปกติให้เห็นก็ช่วยให้เข้ารับการตรวจรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนรีเวชได้เนิ่น ๆ ลดความเสี่ยงที่โรคจะลุกลามมากขึ้น

            ดีอย่างนี้จึงอยากชวนสาว ๆ มาทำบันทึกประจำเดือนหรือปฏิทินรอบเดือนด้วยกัน