เรื่อง “ประจำเดือน” หมั่นสังเกตสัญญานเตือนโรค

เรื่อง “ประจำเดือน” หมั่นสังเกตสัญญานเตือนโรค

Loading

สีของประจำเดือนสามารถบ่งบอกอาการของโรคได้… หากใครท่องโลกออนไลน์ อาจจะเคยเจอบทความประเภทนี้อยู่บ้าง ซึ่งหากสาว ๆ สังเกตประจำเดือนของตนเอง ก็จะพบว่าอาจมีสีหรือลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละเดือนได้ แต่สีของประจำเดือนบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายได้จริงหรือไม่นั้น เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

            ประจำเดือนก็คือเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมรอรับการฝังตัวของตัวอ่อนแต่หากไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อน เยื่อบุโพรงมดลูกนี้ก็จะหลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือดเป็นประจำเดือน ซึ่งการหลุดลอกออกมานี้จะอยู่ในรอบ 21-35 วัน ใช้ระยะเวลา 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับระดับของฮอร์โมนเพศของแต่ละคนด้วย

            สีของประจำเดือนอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนถือเป็นเรื่องปกติ เพราะประจำเดือนที่ออกมาช่วงต้น ๆ ซึ่งจะออกมาจำนวนมากนั้น มักจะมีสีสด แต่หากเป็นช่วงท้ายของการมีประจำเดือนสีของประจำเดือนก็อาจจะเข้มขึ้นเพราะการไหลของเลือดลดน้อยลง และเป็นเลือดที่ค้างอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย อีกทั้งเมื่อประจำเดือนไหลออกมาสัมผัสกับอากาศภายนอกก็อาจทำให้มีสีคล้ำขึ้นได้เช่นกัน

สีของประจำเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่สามารถใช้เพื่อบ่งชี้ว่าเป็นโรคอะไรได้ แต่หากจะสังเกตประจำเดือนเพื่อดูความผิดปกติของร่างกาย มีสิ่งที่ต้องสังเกต ดังนี้ 

            ปริมาณประจำเดือน หากประจำเดือนมามากผิดปกติ จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยครั้ง เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง นั่นแสดงว่าปริมาณเลือดที่ออกมามากผิดปกติ หรือประจำเดือนมาน้อยกระปริบกระปรอย ควรไปพบแพทย์ด้านนรีเวชเพื่อตรวจวินิจฉัยเพราะอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น

            ลักษณะก้อนเลือด หากพบประจำเดือนที่ออกมาเป็นก้อน หรือเป็นลิ่ม ๆ สีแดงสด แดงคล้ำ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจเกิดความผิดปกติเช่นกัน

            ความสม่ำเสมอ ประจำเดือนควรมาทุก 21-35 วัน ไม่ควรมาเร็วกว่า 21 วัน หรือช้ากว่า 35 วัน ซึ่งสาเหตุของการผิดปกติอาจเกิดได้จากความเครียด การลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร หรือการรับประทานยาคุม รวมถึงอาจเกิดจากการเจ็บป่วยทางที่เกี่ยวกับนรีเวช เช่น เนื้องอกในมดลูก เป็นต้น หากประจำเดือนมาถี่หรือทิ้งช่วงไปมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

            สำหรับวิธีดูแลตนเองเบื้องต้น เมื่อพบว่าประจำเดือนมาไม่ปกติ สาว ๆ ควรลดภาวะเครียดลง พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนเหมาะสม รักษาน้ำหนักตัวให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงหลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร หรือกินยาลดความอ้วน เป็นต้น ส่วนสัญญาณเตือนอื่น ๆ ที่ควรระมัดระวังและอาจบ่งชี้ว่ากำลังมีอาการของโรค ได้แก่ ประจำเดือนขาดเกิน 3 เดือน โดยไม่ได้ตั้งครรภ์ เสี่ยงเป็นไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือไทรอยด์ เลือดออกกระปริบกระปรอยไม่เป็นรอบ เสี่ยงเป็น มะเร็งปากมดลูก

            สาว ๆ ควรสังเกตประจำเดือนของตนเอง และควรตรวจภายในทุก 1-2 ปี เพื่อรู้ทันโรคทางนรีเวชโดยอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว