เมื่อไม่ได้เป็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เราเป็น “วัยรุ่น”

เมื่อไม่ได้เป็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เราเป็น “วัยรุ่น”

Loading

มนุษย์แบ่งวัยเป็น 4 ช่วง วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยชรา ถ้าเทียบทั้ง 4 ช่วงนี้ ระยะที่ถูกเรียกว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตมากที่สุดก็คือ “ช่วงวัยรุ่น” เพราะเป็นวัยกึ่งกลางระหว่างความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่

ความซับซ้อนและพัฒนาการเปลี่ยนแปลงช่วงวัยนี้จึงสำคัญ เพราะความเปลี่ยนแปลงหลายด้านเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว บางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอาจทำให้วัยรุ่นรู้สึกสับสน ไม่เข้าใจ และไม่รู้หนทางรับมือเพื่อให้เราในวัยรุ่นได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้นในแต่ละช่วงวัย ลองเช็กดูว่าคุณเจอเรื่องเดียวกับเราบ้างไหม

สรีระร่างกายไม่เหมือนเดิม

            เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ทั้งชายและหญิงจะมีร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปให้ใกล้เคียงผู้ใหญ่และมีความสามารถในการเจริญพันธุ์ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากกลไกการหลั่งฮอร์โมนของสมอง2 แกน ที่เรียกว่าHypothalamus-Pituitary-Gonadal axis และ Hypothalamus-Pituitary-Adrenal axis

            เพศหญิง: เริ่มต้นที่การมีเต้านม ขนขึ้นที่หัวหน่าวเป็นเส้นบาง (กระจายตัวมากขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม) จากนั้นความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างเร็วประมาณ8-11 ซม.ต่อปี แล้วจึงมีประจำเดือน

            เพศชาย: เริ่มต้นจากอัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 2.5 ซม. ขนขึ้นที่หัวหน่าวเป็นเส้นบาง (กระจายตัวมากขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม) มีเสียงเปลี่ยน หนวดขึ้น และความสูงเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว 9-12 ซม.ต่อปี

            แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะเกิดขึ้นช้าเร็วแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยสำหรับเพศหญิงอายุเฉลี่ยของการเริ่มมีเต้านมอยู่ที่อายุ 9.3-9.6 ปี อายุที่เริ่มมีประจำเดือนอยู่ที่ 11.6-12.2 ปี

จุดการยืดตัวช่วงวัยรุ่น (Peak height velocity)

            หลายคนตอนเด็ก ๆ อาจจะสูงระดับกลาง ๆ แต่พอเข้าช่วงวัยรุ่นก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลานี้เรียกว่า Peak height velocity

            เพศหญิงอายุประมาณ 8-13 ปี จนถึงเริ่มมีประจำเดือน โดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นปีละ 8 ซม. หลังมีหน้าอก 2-2.5 ปี

            เพศชายอายุประมาณ 9.5 ปี จะเกิดขึ้นราว 2-3 ปีโดยสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 9 ซม.หลังขนาดอัณฑะขยายขึ้นเป็น 9-10 มล.

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้แปลว่าอ้วนขึ้น

            พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ธรรมชาติตามวัยจะเริ่มใส่ใจเรื่องรูปร่างและรูปลักษณ์กันมากขึ้น โดยมาตรฐานน้ำหนักของเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ส่วนสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เดือนเฉลี่ยที่ 8 กก. ต่อปี ส่วนเพศชายจะเพิ่มช่วงที่กำลังสูง เฉลี่ยประมาณ 9 กก. ต่อปี ทั้งนี้ตัวเลขจะขึ้นลงขึ้นอยู่กับภาวะทางโภชนาการและการเจ็บป่วย

            น้ำหนักคืออะไร? อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์เลยคือ ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI)เราเปลี่ยนจากการเพิ่มของน้ำหนักกระดูกและกล้ามเนื้อเป็นหลัก แต่ในช่วงท้ายของการเข้าสู่วัยรุ่นจะเกิดจากการสะสมไขมันในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างกันในเพศชายและหญิง โดยในช่วงแรกผู้ชายจะมีสัดส่วนของไขมันน้อยกว่า มีกล้ามเนื้อมากกว่า ส่วนในเพศหญิงจะมีสัดส่วนของไขมันมาก และมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกเชิงกราน โดยจะผายออกทางด้านข้างมากกว่าด้านหน้า ทำให้ดูมีสะโพกผายขึ้น

            นอกจากนี้จะมีการเติบโตของกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมากกว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ วัยรุ่นจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักหรือการบาดเจ็บของเอ็นยึดข้อได้บ่อย ปัจจุบันแนะนำให้วัยรุ่นอายุ 9-18 ปีได้รับแคลเซียมวันละ 1,300 มก. และวิตามินดีอย่างน้อย 200-400 ยูนิตต่อวัน

ฮอร์โมนตัวไหนเปลี่ยนแปลงเรา?

            การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงวัยรุ่นเป็นผลจากอิทธิพลของฮอร์โมนเป็นหลัก 3 ตัว ได้แก่ฮอร์โมนเพศจากต่อมเพศ (เอสโทรเจนในเพศหญิง เทสโทสเทอโรนในเพศชาย) ฮอร์โมนแอนโดรเจนจากต่อมหมวกไต (Androgen) และฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone)

วิถีวัยรุ่น สุดอย่างพอดี ทำอย่างไรให้ไม่เจ็บปวด

            สุขภาพจิตที่ดีส่วนหนึ่งมาจากร่างกายที่แข็งแรง เข้าใจตัวเองและรู้วิธีดูแลตัวเอง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติของช่วงวัย ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ รูปร่างมากที่สุด หากเรายอมรับตัวเองอย่างที่เป็น จะทำให้เติบโตได้โดยไม่มีปัญหากับคำพูดของคนรอบข้างหรือค่านิยมของสังคม

กินอย่างวัยรุ่น รู้หรือไม่ว่าวัยรุ่นก็ยังเสี่ยงกับการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอซึ่งส่วนใหญ่มาจากความกังวลเรื่องรูปร่าง กินข้าวบ้านน้อย กินอาหารขยะ ฟาสต์ฟู้ดเยอะเบเกอรี่ที่มีส่วนของไขมันทรานส์เยอะ ฯลฯ

            ทั้งนี้ปริมาณสารอาหารที่วัยรุ่นควรได้รับต่อวัน เพศหญิงต้องการ 1,600-1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน ส่วนวัยรุ่นชายต้องการ 2,100-2,300 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยสัดส่วนสารอาหารที่ควรได้รับ มีดังนี้

            – โปรตีนประมาณ2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.

            – คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 45-65

            – ไขมันสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 เน้น monounsaturated ซึ่งได้มาจากน้ำมันพืช ปลา และถั่ว

คำแนะนำในการรับประทานอาหารสำหรับวัยรุ่น

            – รับประทานอาหารให้ครบ3 มื้อ ไม่ควรข้ามบางมื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าเพราะเป็นพลังงานสมองที่เราจะใช้ทั้งวัน หากอยากลดน้ำหนักให้เลือกลดมื้อเย็น หรือแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ

            – รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่และอาหารหลากหลายชนิด

            – รับประทานอาหารกับครอบครัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

            – ไม่ควรรับประทานอาหาร fast food ที่ให้พลังงานสูงและกากใยน้อยมากหรือบ่อยเกินไป

            – รับประทานผักและผลไม้ให้มากพอและสม่ำเสมอ

            – หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน หรือมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมาก เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ ชานมไข่มุก เป็นต้น

            – ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมรสจืด

            – ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และโฟลิคเสริม โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง

สุขภาพวัยรุ่นชายกับสัญญาณการปลดปล่อย ถ้าพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพผู้ชายค่อนข้างจะมีรายละเอียดที่จำเป็นต้องใส่ใจ เพราะมีสิ่งเร้าเยอะ ทั้งการใช้บุหรี่ สารเสพติด ความต้องการทางเพศ เกม พนัน การใช้ความรุนแรง ฯลฯ สิ่งที่เพศชายอาจพบเจอและยอมรับความเปลี่ยนแปลงมีดังต่อไปนี้…

            นมโตขึ้น (gynecomastia)ฮอร์โมนทำให้วัยรุ่นชายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งนมโตขึ้นในช่วงแรก บางคนอาจจะโตข้างเดียวหรือบางคนก็โตทั้งสองข้าง ส่วนใหญ่จะโตน้อยกว่า 5 ซม. เรื่องนี้ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก ไม่ต้องตกใจ และเมื่อช่วงวัยรุ่นผ่านไป ขนาดนมนี้จะลดลงเอง นอกจากด้านฮอร์โมน พฤติกรรมอื่น ๆ อาจส่งผลให้เต้านมโตได้ เช่น การใช้ยาบางกลุ่ม การสูบกัญชา เนื้องอก เป็นต้น

           ขนาดอวัยวะเพศ ถ้าผู้หญิงสนใจเรื่องหน้าอก สะโพก ขนาดตัว สิ่งที่วัยรุ่นชายสนใจเป็นพิเศษ ก็คือเรื่องขนาดอวัยวะเพศ พูดกันง่าย ๆ ว่าเรื่องเล็ก ใหญ่ ยาว ข้อเท็จจริงคือขนาดและรูปลักษณ์ของอวัยวะเพศขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและเชื้อชาติ โดยทั่วไปความยาวเฉลี่ยขององคชาตขณะอ่อนตัวประมาณ 8-9 ซม. และความยาวเฉลี่ยขณะแข็งตัวประมาณ 15 ซม. ในบางคนอาจพบตุ่มเล็กๆ สีขาวขุ่นขนาด 1-3 มล.บริเวณปลายองคชาต ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ

            สิ่งสำคัญคือขนาดไม่มีผลต่อเรื่องเพศสัมพันธ์และการมีบุตร การใช้ยาเพิ่มขนาดด้วยตัวเองอาจเกิดผลเสียและมีอันตรายมากกว่าผลดี”

            ฝันเปียก ช่วยตัวเอง อวัยวะเพศแข็งตัว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติจำไว้เสมอถ้ามีอาการฝันเปียก (องคชาตแข็งตัวและหลั่งน้ำอสุจิเอง) ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หรือถ้าเราจะสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองจากการใช้มือและอุปกรณ์ก็ไม่ใช่เรื่องหมกมุ่นแต่อย่างใด เพราะตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปี ที่สำคัญคือเรื่องความอึดด้านการหลั่งน้ำอสุจิหรือหลั่งไวในช่วงวัยรุ่น ไม่ได้แปลว่าภาวะทางร่างกายบกพร่อง เนื่องจากภาวะหลั่งไวนี้จะปรับเมื่ออายุมากขึ้น

คำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับวัยรุ่นชาย

            – ข้อสงสัยต่างๆ ได้ผลดีกว่าในการปรึกษาผู้ใหญ่ การปรึกษากับเพื่อนหรือข้อมูลบนอินเตอร์เนทมักได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ครบถ้วน หากไม่กล้าที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือปรึกษาผ่าน website ที่มีความน่าเชื่อถือ

             – เมื่อคิดจะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสำคัญคือความพร้อมที่จะรับผิดชอบหากเกิดการตั้งครรภ์ เน้นต้องมีการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคและคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ หากไม่พร้อมจะรับผิดชอบอาจเลือกถ่ายเทพลังงานทางเพศไปยังกิจกรรมอื่นๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือการช่วยเหลือตัวเอง

            – ในช่วงวัยรุ่น อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีความรู้สึกอยากลองในสิ่งที่ผิด เช่น บุหรี่ เหล้า ยาเสพติด แกงค์ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือการเข้าใจตัวเอง รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การตามเพื่อนอาจทำให้ชีวิตแย่ลง

            การเข้าสู่วัยรุ่นคือประสบการณ์แปลกใหม่ คงมีบ้างที่เราไม่เข้าใจหรือรู้สึกแปลกใจต่อความเปลี่ยนแปลงจนเกิดความกังวลไม่แน่ใจ ดังนั้น ถ้าเรารู้และเข้าใจจะไม่รู้สึกกังวล เครียดกับมันมากนัก หรือหากเกิดความไม่แน่ใจ การพูดคุยกับครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจ จะเป็นทางออกที่ดีและปลอดภัยที่สุด ผู้ใหญ่จะมีวิธีแนะนำและพร้อมสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงนี้ไปกับเราเสมอ

.

เรื่องโดย : พญ. ลลิต ลีลาทิพย์กุล 

แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาเวชศาสตร์วัยรุ่น 

กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี