รู้วิธีคุมกำเนิดป้องกันท้อง ลดเสี่ยงโรค

รู้วิธีคุมกำเนิดป้องกันท้อง ลดเสี่ยงโรค

Loading

จะให้จับเข่าคุยกันเรื่อง คุมกำเนิดดูเป็นหัวข้อที่หาจุดเริ่มต้นบทสนทนาที่แสนยากสำหรับพ่อแม่ในสังคมไทย ที่ถูกปลูกฝังกันมานานว่า เรื่อง เพศไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกนำมาพูดถึงหรือพูดคุยกัน บ้างก็ว่าการคุยเรื่องคุมกำเนิดกับลูกวัยรุ่น ก็ไม่ต่างอะไรกับการ ชี้โพรงให้กระรอกสุดท้ายก็เข้าสู่วังวนเดิมการคุยกับลูกเรื่องเพศกลายเป็นหัวข้อสนทนาต้องห้ามสำหรับครอบครัวไทยส่วนใหญ่

“Sex Must Say”

 ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและสื่อต่าง ๆ ไหลผ่านเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส เรื่องเพศจึงเป็นหัวข้อที่ต้องคุยกัน เพราะพบว่าการที่พ่อแม่ไม่คุยก่อนทำให้เด็กหันไปปรึกษาเพื่อนซึ่งรู้ถูกรู้ผิดไม่ต่างกัน หรือหาข้อมูลเองจนขาดการป้องกันตนเองที่เหมาะสม นำไปสู่Sex เสี่ยงการตั้งครรภ์ยังไม่พร้อม และการติดโรคต่างๆ ตามมา

การห้ามไม่ให้วัยรุ่นซึ่งอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง และกำลังสนใจเพศตรงข้ามเป็นเรื่องยากที่ห้ามได้ วิธีที่ดี พ่อแม่จึงควรเปิดโอกาสการพูดคุยกับลูก ให้ความรู้กับลูกวัยรุ่น เพื่อชะลอการมีเพศสัมพันธ์ให้จนกว่าลูกจะพร้อมจริงๆ และให้ Sex ที่เกิดขึ้นเป็น Safe Sexไม่ใช่ Sex เสี่ยง

          สถิติจากสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2552-2562 พบว่าอายุเฉลี่ยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่นไทยคือ 15 ปี และมีแนวโน้มที่อายุจะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งสะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้มีความรู้และทักษะก่อนการมีเพศสัมพันธ์ให้ลูกอย่างยิ่ง

คุมกำเนิดอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา

สำหรับวิธีการคุมกำเนิดมีทั้ง การคุมกำเนิดแบบถาวรซึ่งคือการทำหมันและการคุมกำเนิดชั่วคราวที่มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่

     1.นับวันหลั่งนอก

          การนับวันปลอดภัยเป็นวิธีที่หลายคนคงเคยได้ยิน ที่คุ้นเคยกันดีคือการนับ หน้า 7 หลัง 7 หมายถึงในระยะก่อนมีประจำเดือนวันแรก 7 วัน และหลังจากนั้น 7 วัน หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ โอกาสตั้งครรภ์จะน้อย แต่วิธีการนี้อาจใช้ไม่ได้กับผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ถือเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ เมื่อใช้ต่อเนื่องกัน 1 ปี การนับวันปลอดภัยมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์26% ส่วนการหลั่งภายนอกช่องคลอดเป็นอีกวิธีที่นิยมใช้กัน แต่ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้22%

ซึ่งแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้คุมกำเนิด เพราะการนับวันมีโอกาสผิดพลาดสูง และการหลั่งภายนอกไม่สามารถป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิเล็ดรอดเข้าไปในช่องคลอดฝ่ายหญิงได้จริง

       2.ใส่ถุงยางอนามัย

            การใส่ถุงยางอนามัยสำหรับเพศชาย ให้ใส่ในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่ และถอดออกทันทีเมื่อเสร็จกิจ เมื่อใช้ต่อเนื่องตลอดหนึ่งปีมีโอกาสตั้งครรภ์ 15%วิธีนี้จึงไม่ปลอดภัยที่จะใช้ในระยะยาวต่อเนื่อง ยกเว้นใช้ร่วมกับการคุมกำเนิดวิธีอื่นแต่ข้อดีที่สำคัญมากคือเป็นวิธีการเดียวที่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

         3.ยาคุมกำเนิดชนิดกิน

             หาได้ง่ายในท้องตลาด ราคาไม่แพง โดยทั่วไปเป็นชนิดฮอร์โมนรวม ประสิทธิภาพสูงถ้ากินยาตรงเวลา ถูกต้อง แต่ในการใช้ทั่วไปต่อเนื่องตลอดหนึ่งปีมีโอกาสตั้งครรภ์ 9%จึงไม่เหมาะกับคนที่ไม่มีวินัยในการกินยา

          4.ยาฉีดคุมกำเนิด

              ปัจจุบันมีทั้งชนิดฮอร์โมนเดี่ยว และฮอร์โมนผสม คุมได้ 1-3 เดือน ชนิดที่แพร่หลายทั่วไปเป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยว มักมีผลข้างเคียงเรื่องน้ำหนักตัว และประจำเดือนผิดปกติ ในการใช้ทั่วไปต่อเนื่องตลอดหนึ่งปีมีโอกาสตั้งครรภ์ 4%

          5.ยาฝังคุมกำเนิด

               เป็นการคุมกำเนิดระยะยาว ประสิทธิภาพสูงมากที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐให้รับการฝังได้ฟรีในวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ปัจจุบันมีใช้สองแบบคือชนิด 1 หลอดคุมกำเนิดได้ 3 ปีและชนิด 2หลอดคุมกำเนิดได้ 5 ปี โดยทั้งคู่เป็นหลอดซิลิโคน บรรจุฮอร์โมนที่ชื่อโปรเจสเตอโรน ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิดคือไม่ยับยั้งการสร้างน้ำนม สามารถใช้ในแม่ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตรได้และฝังครั้งเดียวมีอายุการคุมกำเนิดนาน ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดสูงมากกว่า99% หากได้รับการฝังยาอย่างถูกต้อง อีกทั้งผลข้างเคียงมีน้อย ทั้งการเกิดฝ้าและอาการคลื่นไส้ที่พบบ่อยในการใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือน หรืออาการโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และลดโอกาสเกิดมะเร็งเยื่อยุโพรงมดลูกด้วย ส่วนข้อเสียคืออาจส่งผลเรื่องน้ำหนักและเลือดออกผิดปกติ มีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้าและเกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้

         6.ห่วงคุมกำเนิด

               เป็นการคุมกำเนิดระยะยาวที่มีประสิทธิภาพสูงมากอีกวิธีหนึ่ง โอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 1%แต่ไม่ได้รับความนิยมนักในสตรีที่ยังไม่เคยมีลูก ซึ่งวิธีคุมกำเนิดนี้สามารถใช้ในผู้หญิงที่ไม่เคยมีลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยห่วงคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

            • ห่วงคุมกำเนิด ชนิดไม่มีฮอร์โมน (IUD)เป็นชนิดที่มีใช้ทั่วไปในประเทศไทยไม่มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนคุมกำเนิดได้ 5-10 ปี ใส่และนำออกไม่ยาก สามารถใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินโดยใส่ภายใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันได้อีกด้วย

             • ห่วงคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมน (IUS) มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน อยู่ที่ก้านพลาสติก ชนิดที่มีใช้ในประเทศไทย คุมกำเนิดได้ 5 ปี (บางรายงานการศึกษาอาจถึง 7 ปี)มีประสิทธิภาพการคุมกำเนิดดีกว่าแบบไม่มีฮอร์โมน แต่มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนบ้าง และมีราคาแพงกว่า ไม่ค่อยมีใช้ในโรงพยาบาลทั่วไป มักใช้กับคนไข้เฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาโดยโรงพยาบาลของรัฐบาลจะคิดค่าใช้จ่ายสำหรับห่วงคุมกำเนิดชนิดนี้ประมาณ5,000 บาท

          7.ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 

              สำหรับการคุมกำเนิดฉุกเฉิน เป็นการป้องกันไม่ให้ท้องแบบกรณีฉุกเฉินหรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ได้คุมกำเนิดล่วงหน้าไว้ก่อนถูกข่มขืน หรือถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ล้มเหลว หรือเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น เช่น ถุงยางอนามัยแตกหรือหลุดลืมกินยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมติดต่อกันตั้งแต่ 3 เม็ดขึ้นไป หรือกินยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว Exlutonช้าไป 3 ชม. Cerazette 12 ชม.ฉีดยาคุมแบบทุก 12 สัปดาห์ ช้าไป เกิน 4 สัปดาห์ ฉีดยาคุมแบบเดือนละเข็ม ช้าไปเกิน 1 สัปดาห์หลั่งภายใน หรือภายนอกก็ตาม แล้วไม่ได้คุมวิธีอื่นห่วงหลุด หรือนับวันพลาด เป็นต้น

          ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถให้การป้องกันได้ภายใน 5 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์ และควรรีบคุมกำเนิดให้เร็วที่สุดทันทีที่ทำได้ โดยวิธีการที่แนะนำคือ

          1.ซื้อยาคุมฉุกเฉินกินภายในระยะเวลา3 วัน
              “โพสตินอร์หนึ่งกล่องมี 2 เม็ด 55 บาท” หรือ“มาดอนน่าหนึ่งกล่องมี 2 เม็ด 40 บาท”กิน2 เม็ด ครั้งเดียว หรือ 1 เม็ดแล้วอีก 12 ชม.กินอีก1 เม็ดถ้าอาเจียนออกมาภายใน2 ชม.หลังกิน ให้กินซ้ำทันทีผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้ เลือดออกผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ตรง หากมีความเสี่ยงอีก ให้เริ่มยากินคุมปกติต่อได้เลยแต่ใน 7 วันแรกหลังเริ่มยาให้ใช้ถุงยางอนามัย หรืองดเพศสัมพันธ์ไปก่อน

          2.หายาคุมฉุกเฉินไม่ได้ภายใน 3 วัน

              ให้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมปกติที่หาได้ง่ายดูปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน ข้างแผงว่า EE (EsthinylEstradiol) ต่อเม็ดให้มีปริมาณรวมได้ 100-120 ไมโครกรัม แล้วกินทันที และกินซ้ำในอีก 12 ชั่วโมง ถ้าอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงให้กินใหม่อีกครั้ง

          3.เกิน 3 วันไปแล้ว แต่ไม่เกิน 5 วัน 

             สามารถใช้ 2 วิธีแรกได้ แต่ถ้าปลอดภัยขึ้นคือให้ใส่ห่วงคุมกำเนิด

          4.เกิน 5 วันไปแล้ว 

             ต้องปรึกษาสูติแพทย์ อาจสามารถใช้ห่วงคุมกำเนิดได้ แต่ต้องใส่ภายในไม่เกิน 5 วันหลังจากวันที่มีโอกาสตกไข่รอบที่เร็วที่สุด

.

เรื่องโดย : น.พ. แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินารีแพทย์