เมื่อวัยรุ่นคือช่วงเวลาที่เราเป็นคนใหม่

เมื่อวัยรุ่นคือช่วงเวลาที่เราเป็นคนใหม่

Loading

สิ่งที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดที่บอกว่าเราเข้าสู่วัยรุ่น คือ“ร่างกาย”มันจะแสดงออกมาในวันที่เรามองกระจกแล้วพบว่าร่างกายบางส่วนของเราเปลี่ยนไปจากเดิม เรากลายเป็นคนใหม่ที่มีน้ำหนัก ส่วนสูง และรูปร่างแบบใหม่ที่มีความสามารถในการเจริญพันธุ์

         แม้จะบอกว่าร่างกายเราจะเปลี่ยนแปลง แต่ความเร็วช้าของการเปลี่ยนแปลงแต่ละคนจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และอาหารการกิน แต่ปัจจุบันโดยเฉลี่ยพบว่าเด็กก้าวสู่วัยรุ่นเร็วขึ้น เช่น อายุเฉลี่ยการขยายเต้านมคือ 9.3-9.6 ปี ขณะที่ประจำเดือนมาในช่วง 11.6-12.2 ปี

ฮอร์โมนกับพัฒนาการของวัยรุ่น

         ร่ายกายของเราเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์โมนจาก 2 แกน ได้แก่ Hypothalamus-pituitary-gonadal axis และ Hypothalamus-pituitary-adrenal axis ซึ่งจะมีลำดับการพัฒนาที่ถูกต้องตามลำดับ ดังนี้

         เพศหญิง: เริ่มต้นที่การมีเต้านมโต ขนขึ้นที่หัวหน่าวเป็นเส้นบาง (กระจายตัวมากขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม) จากนั้นมีความสูงเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว 8-11 ซม.ต่อปี แล้วจึงมีประจำเดือน

         เพศชาย: เริ่มต้นจากอัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 2.5 ซม. ขนขึ้นที่หัวหน่าวเป็นเส้นบาง (กระจายตัวมากขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม) มีเสียงเปลี่ยนวดขึ้น และความสูงเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว 9-12 ซม.ต่อปี

ความสูงที่เปลี่ยนแปลง

          เราทุกคนมีส่วนสูงที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเรามีช่วงเวลาที่ความสูงเพิ่มเร็วที่สุด (Peak height velocity) ระยะเดียวกัน  โดยระยะเวลานี้จะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 ปี

         เพศหญิง:ช่วงที่สูงเร็วที่สุดอยู่ระหว่างช่วงเวลาหลังจากเริ่มมีเต้านม 2-2.5 ปี หรืออายุประมาณ 8-13 ปี จนถึงเริ่มมีประจำเดือน โดยสูงเฉลี่ยปีละ 8 ซม.

         เพศชาย:ช่วงที่สูงเร็วที่สุดจะเริ่มเมื่อขนาดอัณฑะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 9-10 มล. หรืออายุประมาณ 9.5 ปี โดยสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 9 ซม.

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

            บางคนตอนเป็นเด็กอ้วนตุ๊ต๊ะแต่พอโตมาหุ่นสแลนเดอร์เพราะส่วนสูงและการเผาผลาญไขมันที่ทำให้ร่างกายไม่เหมือนเดิม แต่ไม่ว่าเราจะผอมหรือไม่ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือตัวเลขน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อัตราการเพิ่มของน้ำหนักในช่วงวัยรุ่นขึ้นกับภาวะทางโภชนาการและการเจ็บป่วย

         เพศหญิง:น้ำหนักเพิ่มโดยเฉลี่ยประมาณ 8 กก. ต่อปี เกิดขึ้นหลังจากที่มีความสูงเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 6 เดือน

        เพศชาย:น้ำหนักเพิ่มโดยเฉลี่ยประมาณ9 กก. ต่อปี

สัดส่วนร่างกายไม่เหมือนเก่า

        เราคงได้ยินคำว่า BMI กันมาบ้าง คำนี้หมายถึงดัชนีมวลกาย ซึ่งประกอบด้วยหลายส่วนทั้งกระดูก กล้ามเนื้อและไขมัน ชายหญิงจะมีดัชนีมวลกายที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงตามพัฒนาการของสรีระร่างกายที่แตกต่างกัน

         เพศหญิง: ช่วงแรกผู้หญิงมีสัดส่วนไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อและมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกเชิงกรานที่ผายมาทางด้านข้าง (สะโพกผาย)

         เพศชาย: ช่วงแรกผู้ชายมีกล้ามเนื้อเยอะกว่าไขมัน

         การเติบโตของกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมากกว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ วัยรุ่นจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักหรือการบาดเจ็บของเอ็นยึดข้อได้บ่อย ปัจจุบันแนะนำให้วัยรุ่นอายุ 9-18 ปีได้รับแคลเซียมวันละ 1,300 มก. และวิตามินดีอย่างน้อย 200-400 ยูนิตต่อวัน

         ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้บางคนกังวลเรื่องรูปร่างของตัวเองบ้าง “คนใหม่ที่เราต้องทำความรู้จักในช่วงวัยรุ่น” อาจเป็นเราที่แตกต่างจากเพื่อนรอบข้างหรือค่านิยมทางสังคม อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากให้โฟกัสที่สุดคือเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ว่ารูปร่างหน้าตาและสรีระที่เราจะต่างกันแค่ไหน อย่าพยายามเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับใคร ไม่ต้องลดน้ำหนักเสียจนร่างกายหม่นเศร้า เพราะทุกอย่างควรเป็นไปอย่างพอดีและเน้นสุขภาพเป็นสำคัญ