รู้เท่าทันสื่อ ปลอดภัยเรื่องเพศ ในยุคนิวนอร์มอล

รู้เท่าทันสื่อ ปลอดภัยเรื่องเพศ ในยุคนิวนอร์มอล

Loading

สังคมได้ก้าวเข้าสู่ยุคของโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยการสื่อสาร ข้อมูลจำนวนมากบนโลกอินเทอร์เนทแล้วเป็นการยากจะหลีกเลี่ยงการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กๆยิ่งในยุคที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์ และมีเวลาอยู่หน้าจอมากขึ้น

          การใช้งานเครือข่ายออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงทรัพย์สิน และไปทำมิดีมิร้ายมากขึ้นเพราะเด็กอยู่กับสื่อ เกม หรือการใช้มือถือ และเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ มากขึ้น โดยภัยออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กมีดังนี้

          7 ภัยร้ายออนไลน์จ้องทำร้ายเด็ก

            1.สื่อลามก มีทั้งเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร การแสดงออกทางเพศไม่เหมาะสม และการเรียกเก็บเงินจากผู้เข้าใช้บริการ

            2.ล่อลวง ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เป็นช่องทางเข้าถึงตัวเด็ก เพื่อนัดหมายไปล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้าย หรือชิงทรัพย์

            3.ค้าประเวณี มีการโฆษณาเพื่อขายบริการ รวมทั้งชักชวนให้สมัครมาขายบริการหรือการมีเพศสัมพันธ์ผ่านการไลฟ์สด

            4.ขายสินค้าอันตราย มีตั้งแต่ยาสลบ ยาปลุกเซ็กซ์ ปืน ฯลฯ และการขายข้อมูลบุคคลเพื่อการตลาดทำให้เด็กเป็นเหยื่อทางการตลาด

             5.เผยแพร่ข้อมูลที่อันตราย เช่น การฆ่าตัวตาย การทำระเบิด โดยอธิบายขั้นตอนการทำอย่างละเอียด

             6.การพนัน มีให้เข้าไปเล่นได้ในหลายรูปแบบและออกแบบให้เหมือนเป็นเกมหรือกีฬามักจะมีโฆษณา pop-up ขึ้นมาอัตโนมัติ

             7.เกม มีทั้งเกมที่รุนแรงไล่ฆ่าฟันและเกมที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศปัจจุบันหลายเกมถูกผลิตมาเพื่อให้คนเสพติด หรือกระตุ้นอารมณ์ความรุนแรง ก้าวร้าว

          สื่อออนไลน์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด ขายสินค้าทางเพศ การค้าประเวณีแอบแฝง การล่อลวงเพื่อเพศสัมพันธ์หรือแม้แต่กลายเป็นช่องทางให้เด็กแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมออกสื่อเพื่อให้ได้รับความสนใจ หรือการยอมรับทางสังคม หรือเป็นช่องทางในการหาคู่นอน

ที่สำคัญเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของการถูก คุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ หรือ Online Sexual Harassmentซึ่งเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในโลกไซเบอร์โดยไม่รู้ตัวซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงรูปแบบของการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ 4 รูปแบบ ได้แก่

             1.การกลั่นแกล้งทางเพศ การล้อเลียนลักษณะทางร่างกาย การล้อเลียนเพศสภาพ เปิดเผยเพศสภาพของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การปลอมตัวหรือสวมรอยเป็นบุคคลนั้น ๆ แล้วส่งเนื้อหาทางเพศหรือภาพลามกอนาจารเพื่อทำลายชื่อเสียง ปล่อยข่าวลือข่าวปลอมเรื่องเพศของเหยื่อ

             2.การข่มขู่ทางเพศ กดดันหรือเสนอสิ่งของแลกเปลี่ยนให้ส่งภาพลามกอนาจารของเหยื่อมาให้หากเหยื่อหลงเชื่อส่งภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศของตนเองไปก็จะนำไปใช้แบลคเมล์ ข่มขู่ว่าจะล่วงละเมิดทางเพศ หรือกระตุ้นให้คนอื่นล่วงละเมิดทางเพศอีกคน

             3.การลวนลามทางเพศ แสดงความคิดเห็นหรือโพสต์ลวนลามทางเพศบนโลกโซเชียล พูดจาล้อเลียนเรื่องเพศเป็นเรื่องสนุก เสนอหรือขอทำกิจกรรมทางเพศกับบุคคลอื่นในโลกออนไลน์ ตัดต่อภาพของคนอื่นให้ดูยั่วยวนทางเพศ

             4.การอนาจารแก้แค้น หรือ Revenge porn เช่น การบันทึกภาพเพศสัมพันธ์ที่ไม่เต็มใจ การถ่ายหรือส่งต่อคลิปหรือภาพทางเพศของเหยื่อโดยไม่ได้รับความยินยอม

ปัญหาการคุกคามทางเพศออนไลน์เกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจนำไปสู่ปัญหาหรืออาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ จนอาจจะเกิดเป็นบาดแผลภายในจิตใจหรือทำให้บุคคลนั้นรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

          คาถาระวังภัยรู้เท่าทันสื่อ ปลอดภัยเรื่องเพศ

          • อย่าไว้วางใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ไม่ควรรับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนในเครือข่ายสังคมออนไลน์

          • เก็บข้อมูลส่วนตัวของตัวเองให้ดี ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์

          • เคารพสิทธิของผู้อื่นอยู่เสมอ มีสติทุกครั้งในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ และควรใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ

          • ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายคุกคามทางเพศ หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคุกคามหรือผิดกฎหมาย อย่าส่งต่อ อย่าแสดงความคิดเห็น ไม่ยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดต่างๆ สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง