“สุขสม” แต่กลับ “ตรอมตรม” รู้สึกเศร้าหลังมี Sex

“สุขสม” แต่กลับ “ตรอมตรม” รู้สึกเศร้าหลังมี Sex

Loading

บทความนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องภาวะอารมณ์หลังการมีเพศสัมพันธ์ ที่บางคนอาจเกิดความรู้สึกผิด กระสับกระส่าย วิตกกังวล ทะเลาะกับคู่นอน จนไปถึงมีอาการซึมเศร้า ทั้งที่กิจกรรมบนเตียงก็สุขสม แต่พอเสร็จกิจกลับรู้สึกตรอมตรม

อาการเศร้าหลังการมีเพศสัมพันธ์นั้น มีชื่อเรียกว่า Post-coital dysphoria (PCD) โดยภาวะ PDC นี้ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งแตกต่างจากการร้องไห้หรือซึมเศร้าที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอม แต่ PDC เกิดขึ้นได้ แม้ว่าเซ็กส์ครั้งนั้นจะเกิดจากความยินยอม และกิจกรรมบนเตียงก็เป็นไปด้วยดี

สาเหตุของการเกิด PDC นั้นมีหลายประการด้วยกัน  ได้แก่ 

ฮอร์โมนเปลี่ยนอย่างรวดเร็วหลังมี Sex 

การมีเพศสัมพันธ์ ร่างกายจะหลั่งโดพามีน และออกซิโทซิน ฮอร์โมนแห่งความสุข รวมถึงฮอร์โมนและสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกายก็จะถูกปล่อยออกมาเช่นกัน ทำให้มีอารมณ์หรือความต้องการอย่างมากขณะมีกิจกรรม แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ระดับฮอร์โมนและสารเคมีต่าง ๆ ก็ลดระดับลงอย่างฉับพลันเช่นกัน จากที่รู้สึกสุขสมอย่างสูงสุด เมื่อสิ้นสุดลงทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือเศร้าขึ้นมาได้ เป็นภาวะทางกายภาพที่เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว  

ทัศนคติเรื่องเพศ

การมีทัศนคติเรื่องหรือเรื่องเซ็กซ์ที่ผิดในบางเรื่อง ก็อาจจะสร้างความรู้สึกผิดให้เกิดขึ้นในสิ่งที่ทำลงไป จนเกิดเป็นความรู้สึกเศร้า ผิดหวังกับตัวเอง วิตกกังวลขึ้นได้ หรือบางคนไม่มั่นใจเรื่องรูปร่างของตนเอง เมื่อเปิดเผยสัดส่วนให้คู่นอนเห็นก็เกิดความไม่มั่นใจ หรือกังวลว่ากิจกรรมที่เพิ่งจบลงไป ไม่เป็นที่พอใจของคู่นอน รวมถึงความต้องการทำให้คู่ของตัวเองประทับใจ ล้วนก่อให้เกิดความกังวลใจได้ทั้งสิ้น 

ปมในอดีต

บางคนมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การมีเซ็กซ์อาจมีผลไปกระตุ้นปมในใจ ทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนแอ หรือเกิดความกลัวขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้จะมีเซ็กซ์กับคนที่รู้สึกดีด้วยก็ตาม  

สำหรับทางแก้สำหรับผู้ที่มีภาวะ PCD ให้พยายามสงบสติอารมณ์ ผ่อนคลาย หาสาเหตุที่ทำให้กังวลใจ ทบทวนถึงสิ่งที่มากระตุ้นความรู้สึกว่าคืออะไร ควรเปิดใจคุยตรง ๆ กับคู่ของตัวเอง ว่ารู้สึกอะไร อย่างไร ชอบเซ็กซ์แบบไหน ชอบทำหรือไม่ชอบอะไร จะช่วยผ่อนคลายความกังวล และช่วยให้สบายใจขึ้นได้ ซึ่งหากคู่นอนของคุณเปิดใจคุยเรื่องเหล่านี้ ไม่ควรไปซ้ำเติมในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่มั่นใจหรือเป็นปัญหา ควรสื่อสารเชิงบวก รับฟัง ให้ความมั่นใจในเรื่องที่อีกฝ่ายวิตกกังวล รวมถึงต้องเข้าใจด้วยว่าภาวะดังกล่าวเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในร่างกาย ซึ่งอาจต้องให้เวลาเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ