10 ทักษะชีวิต: ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

10 ทักษะชีวิต: ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

Loading

เรามักจะเคยได้ยินคนพูดบ่อย ๆ ว่า “วิชาการอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีวิชาชีวิตด้วย” หลายคนอาจจะสงสัยว่าวิชาชีวิตคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนดทักษะชีวิตที่จำเป็น 10ทักษะพื้นฐาน

“Life Skill” หรือ “ทักษะชีวิต” หมายถึง ทักษะทางจิตใจและสังคมที่ต้องใช้ในการเผชิญปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในชีวิตแบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ แต่ละกลุ่มประกอบด้วย 2 ทักษะย่อย ดังนี้

ด้านการเผชิญปัญหา

  1. ทักษะการตัดสินใจ (Decision making) หมายถึง ความสามารถในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ซึ่งต้องมีทักษะคิดวิเคราะห์ มองเห็นข้อดี ข้อเสียของทางเลือกแต่ละแบบและประเมินได้ว่าเราควรตัดสินใจเช่นไร เช่น แฟนชวนมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่ไม่พร้อม เราต้องคิดรอบด้านก่อนตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง
  2. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving)ในชีวิต คนทุกคนจะเจอปัญหาที่ต้องแก้ เมื่อขาดทักษะการแก้ปัญหา เพราะถ้าไม่จัดการอาจทำให้เกิดความเครียดกระทบทั้งจิตใจและร่างกายได้ดังนั้น การจะเกิดทักษะการแก้ปัญหาได้ดี ต้องฝึกแก้ปัญหาบ่อยๆ เวลาเจอปัญหาจะสามารถเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหา และสามารถทดลอง เจอทางออกใหม่ ๆ และเรียนรู้จากการแก้ปัญหาด้วยตนเองได้

ด้านความคิด

  1. ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) คือการมองนอกกรอบ จินตนาการความเป็นไปได้อื่น ๆ ทักษะการคิดสร้างสรรค์จะทำให้เรามีทางเลือกเพิ่ม มองเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายเพื่อให้นำไปประกอบการไตร่ตรองดูอีกครั้งว่าควรเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น ๆ หรือไม่
  1. ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) คือความสามารถในการวิเคราะห์ ทั้งข้อมูลประสบการณ์ต่างๆ ประมวลผล และมองทั้งแง่ดี-แง่ลบ หรือด้านที่ชอบ-ไม่ชอบ มองเห็นแง่มุมที่รอบด้านและหลากหลาย สามารถตัดสินใจบนเหตุผลที่เหมาะสม

ด้านสังคม

  1. ทักษะการสื่อสาร (Communication) หมายถึง เราสามารถสื่อสารหรือทำความเข้าใจกับคนอื่น ไม่ว่าจะด้วยการพูดและแสดงท่าทีได้เหมาะสมกับกาลเทศะการแสดงความคิดเห็น ความคิด ความรู้สึกอย่างเหมาะสม รวมทั้งการขอความช่วยเหลือ และการพูดปฏิเสธเมื่อเราต้องการได้อย่างชัดเจน เช่น ในเรื่องเดียวกันวิธีการพูดกับเพื่อนก็ต่างกับการพูดกับพ่อแม่
  2. ทักษะการมีสัมพันธภาพ (Interpersonal relationship) ช่วยให้คนเราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ใหม่ๆรักษาความสัมพันธ์ และยุติความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่น

ด้านจิตใจ

  1. ทักษะการรู้จักตัวเอง (Self-awareness)คือการตระหนักรู้ รับรู้ รู้จัก และเข้าใจตัวเอง ทั้งความเป็นตัวเอง บุคลิก นิสัย จุดแข็งและจุดอ่อน ความชอบและไม่ชอบ ถ้าพัฒนาความตระหนักรู้ในตัวเองจะเพิ่มความสามารถจัดการความเครียดหรือปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และมีส่วนช่วยด้านการสื่อสารและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย
  2. ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy)คือความสามารถในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเข้าใจแม้คนที่แตกต่างจากเรา เช่น คนละวัฒนธรรม สีผิว หรือต่างเชื้อชาติ ทักษะนี้เป็นหัวใจสำคัญของการมีความสัมพันธ์ที่ดีคนที่เข้าใจผู้อื่นดี จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกเชิงลึก และเป็นที่รักของผู้อื่น

ด้านอารมณ์

  1. ทักษะการจัดการอารมณ์ (Coping with emotions) เริ่มจากการรับรู้อารมณ์ตัวเอง รู้วิธีจัดการอารมณ์ด้านลบ และสามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสม
  2. ทักษะการจัดการความเครียด (Coping with stress)รับรู้ความเครียดของตนเอง สามารถเข้าใจสาเหตุ และผลกระทบทักษะที่จะจัดการกับต้นเหตุของความเครียด เช่น การเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีการใช้ชีวิต (life style) ส่วนสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดการที่ต้นเหตุหรือหลีกเลี่ยงได้ ก็สามารถที่จะรู้วิธีผ่อนคลายตนเองโดยไม่หนีปัญหา หรือทำให้ตัวเองเครียดเพิ่ม
          ทักษะชีวิตไม่ได้สามารถเกิดได้ผ่านการสอนหรือท่องจำการพัฒนาทักษะต้องใช้การฝึกฝน เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นั้นๆโดยตรง ยิ่งฝึกบ่อยก็จะเกิดความเชี่ยวชาญ นำไปสู่ทักษะการจัดการชีวิตทั้งด้านบวกและปัญหาได้เหมาะสม พ่อแม่ทุกคนจึงควรเปิดโอกาส และเป็นเหมือนโค้ชให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ เมื่อลูกเจอโจทย์ของชีวิตที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ จะสามารถปรับใช้แก้ปัญหาและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

.

เรื่องโดย : วิมลวรรณ ปัญญาว่อง นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น