“ฉันทำได้” ความเชื่อที่สร้างได้ตั้งแต่เด็ก

“ฉันทำได้” ความเชื่อที่สร้างได้ตั้งแต่เด็ก

Loading

“วิตกกังวล ไม่กล้า ขาดความมั่นใจ” ล้วนเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายครอบครัวพยายามหาทางแก้ปัญหาให้เจ้าตัวเล็กที่บ้าน เพราะเด็กบางคนเชื่ออย่างฝังหัวว่า “ทำไม่ได้” หรือหากลงมือก็ต้องมี “ความผิดลาด” เกิดขึ้น จนต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่เสมอ หรือกลายเป็นคนยอมคนอื่นมากไป ไม่กล่าปฏิเสธ หรือทำตามเพื่อนทุกอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับ…ความคิดแบบนี้มาจากไหนกัน?

พื้นฐานความไม่มั่นใจมักเกิดจากความกลัว และกังวล ทั้งกลัวความผิดพลาด กลัวถูกมองไม่ดี กลัวโดนล้อ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกด้านลบต่อตนเอง และเกี่ยวข้องกับวิธีการเลี้ยงดูโดยตรง

“คำชม” ท้าชน “ความกลัว”

          ความภาคภูมิใจในตนเองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ต้องมาจากการสั่งสมประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นได้หากได้รับการสนับสนุนจากคนสำคัญในชีวิต

          ความกลัว เป็นอารมณ์ตามธรรมชาติในเด็กอายุประมาณ 4-6 ปี แต่หากการเลี้ยงดูยิ่งทำให้เด็กหวาดกลัว กระตุ้นความกังวล ทำให้ไม่มั่นใจ เด็กก็จะยิ่งมีความกลัว กังวล ไม่มั่นใจจนพัฒนาเป็นบุคลิกภาพหรือปัญหาในอนาคตได้ในที่สุด

          ยุทธวิธีที่จะท้าชนกับ “ความกลัว” คือ “คำชม” เพราะการได้รับคำชมจะช่วยสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ และช่วยทลายกำแพงความกลัวทิ้งไปได้ เรื่องที่ชมอาจเป็นสิ่งเล็กๆในชีวิตประจำวันที่เขาทำได้ เช่น กินข้าวเอง ผูกเชือกรองเท้าเองซื้อของเอง อ่านเขียนได้ ช่วยงานบ้าน สอบได้ ขึ้นรถเมล์เองได้ พูดหน้าชั้นได้ เล่นกีฬาได้ เล่นดนตรีได้ เต้นได้ วาดรูปได้ เป็นต้น เพราะในวัยเด็กเล็กการได้รับคำชมจะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกว่า “ทำได้และทำดี”ความเชื่อมั่นก็จะยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ และจะช่วยส่งเสริมความคิด “ฉันจะเรียนรู้และลองทำได้” ให้มีมากขึ้น

          ดังนั้น พ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้านไม่ควรหวงคำชม เพราะคิดว่าเด็กจะเหลิง คำชมจะเป็นยาหอมช่วยให้เด็กภาคภูมิใจในตัวเอง และมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก และเมื่อเด็กทำผิดพลาด หรือทำอะไรไม่สำเร็จ พ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้กำลังใจ อาจใช้คำพูดสื่อสารง่าย ๆ ด้วยคำว่า “ไม่เป็นไร” และ “เริ่มต้นใหม่” รวมไปถึงช่วยเด็กค้นหาปัญหาอุปสรรค และร่วมกันแก้ไขพัฒนาไปด้วยกัน

          การตอกย้ำถึงความผิดพลาดซ้ำๆ ไม่ได้ช่วยให้ลูกอยากพยายามทำให้ดีขึ้นอย่างที่พ่อแม่บางคนคิด แต่กลับจะทิ่มแทงความเป็นตัวตนของเด็ก จนกระทั่งเขาขาดความมั่นใจไปมากขึ้นเรื่อยๆคำพูดที่ผู้ใหญ่ไม่ควรพูด คือคำกล่าวเชิงติเตียนอย่าง“แค่นี้เอง ทำไมทำไม่ได้” “ใครๆ ก็ทำได้” “ทำแค่นี้ยังไม่ดีพอ”จะบั่นทอนความภาคภูมิใจของเด็ก จึงไม่ควรใช้คำพูดลักษณะนี้

สร้างลูกให้มีความเชื่อว่า “ทำได้”
           ช่วงวัยเรียนเป็นช่วงเริ่มต้นของเด็ก ๆ ที่จะต้องปรับตัวเข้ากับสังคม แก้ปัญหาและช่วยเหลือตัวเอง เป็นช่วงที่เด็กจะได้เรียนรู้การปรับตัวเข้ากับเพื่อน ครู และสังคมในโรงเรียน นอกจากนี้ยังต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองในเรื่องการเรียน การสอบ จึงเป็นช่วงเวลาของการฝึกความรับผิดชอบ ความอดทน ความพยายาม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ต้องพบทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว ซึ่งเป็นช่วงประสบการณ์สำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้และผ่านไปให้ได้
           พ่อแม่ของเด็กวัยนี้จึงต้องสังเกตลูกด้วยความใส่ใจ เปลี่ยนจากการเข้าโอบอุ้มช่วยเหลืออย่างที่เคยทำในวัยเด็กเล็ก เหลือเพียงแค่การสนับสนุน รับฟัง ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการ ทำหน้าที่เสมือนโค้ชช่วยฝึกซ้อมให้เด็กสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างแข็งแรง นอกจากนี้ อาจมอบหมายความรับผิดชอบงานบ้านเพิ่มเติมให้ตามวัยนอกเหนือจากการช่วยเหลือตัวเอง เช่น ช่วยกรอกน้ำ ล้างจาน ซึ่งในแต่ละปีที่ลูกโตขึ้นก็อาจพิจารณามอบหมายความรับผิดชอบที่ยากขึ้นให้ตามลำดับ เช่น ทำกับข้าว เลี้ยงน้อง เป็นต้น การเพิ่มบทบาทหน้าที่เช่นนี้จะยิ่งเพิ่มความรู้สึก “ทำได้” และสร้างความมั่นใจในตนเองให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และสิ่งที่พ่อแม่ต้องไม่ลืม คือ การได้รับคำชื่นชม ซึ่งจะทำให้เด็กร่วมมือ และอยากทำด้วยตนเอง

          ข้อควรระวังที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพ่อแม่ คือ เมื่อลูกมีปัญหาที่โรงเรียน ต้องไม่เข้าไปช่วยลูก ๆ ถึงในโรงเรียน หรือหากลูกมีพัฒนาการช้า เด็กอาจจะทำได้ช้าหรือไม่เรียบร้อย หรืออาจจะทำผิดๆ พลาดๆ บ้าง พ่อแม่ต้องยั้งใจในการลงมือทำให้ และไม่ตำหนิ อาจจะเหลือแค่ช่วยความเรียบร้อยทีหลังก็เพียงพอ

อย่าลืมว่าการแสดงออกถึงความรู้สึกภูมิใจของพ่อแม่ คือจุดเริ่มต้นของความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กทุกคน