ใช้สื่อปลอดภัย สร้างทักษะรู้ทันสื่อให้เด็ก ๆ

ใช้สื่อปลอดภัย สร้างทักษะรู้ทันสื่อให้เด็ก ๆ

Loading

สังคมได้ก้าวเข้าสู่ยุคของโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยการสื่อสาร ข้อมูลจำนวนมากบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งGlobal Digital Report 2021 ของ We Are Social และ Hootsuite แพลตฟอร์มบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ เปิดสถิติถึงเดือนกรกฎาคม ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 พบ พฤติกรรมใช้งานออนไลน์คนไทย ‘ติดอันดับโลก’ หลายรายการ คนไทย 69% อยู่บนโลกออนไลน์ และคนไทยใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการอัพเดทข่าว หรือคิดเป็น 78%คนไทยใช้ “Facebook”มากเป็นอันดับ 8 ของโลก โพสต์เฟซบุ๊คเฉลี่ยคนละ 11 ครั้งต่อเดือนและคอมเมนต์บนเฟซบุ๊คเฉลี่ย 8 ครั้งต่อเดือน

เด็ก ๆ และวัยรุ่นกลายเป็นเป้าหมายการตลาดบนโลกออนไลน์ น้อง ๆ อาจพบว่ามักมีข้อมูลสินค้าที่เรากำลังสนใจ หรือชื่นชอบโฆษณาขึ้นมาในสื่อออนไลน์ราวกับรู้ใจ นั่นเพราะเราทิ้ง ร่องรอยทางดิจิทัลหรือ Digital Footprintเอาไว้ จากการเข้าใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้รู้ว่าเรากำลังสนใจสินค้าหรือเรื่องอะไรอยู่ และระบบสามารถเสนอขายสินค้าได้ตรงตามความต้องการของเรา

          นอกจากร่องรอยทางดิจิทัลที่เราเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว ข้อมูลส่วนบุคคลที่เราป้อนตอนสมัครเข้าใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ยังเป็นร่องรอยทางดิจิทัลที่อาจถูกกลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้ล่อลวงหรือสร้างความเสียกายกับเราได้ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน

          ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจึงควรตระหนักว่า ร่องรอยดิจิทัลเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเราได้ และข้อมูล เหล่านี้จะคนอื่นสามารถที่จะ ค้นหา เผยแพร่ ทำซ้ำ ขโมย และติดตามได้เพราะร่องรอยนั้นจะไม่หายไปจากโลกไซเบอร์

การทำความเข้าใจกับเด็กในเรื่องนี้ ผู้ปกครองควรหาตัวอย่างข่าว หรือหาข้อมูลคนที่โดนหลอก ล่อลวงมาก่อนมาพูดคุยกับลูก เพื่อวิเคราะห์หรือช่วยกันหาทางป้องกัน เพื่อสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งทักษะการรู้เท่าทันสื่อตามแนวคิดขององค์การระหว่างประเทศUNESCO คือ

          • มีความสามารถเข้าถึงสื่อ คัดกรองได้ว่าสื่อใดไม่ควรเสพ และรู้ทันตัวเองได้ เช่น เสพสื่อแล้วเครียด เล่นเกมแล้วติด ก็หลีกเลี่ยงหรือเลือกรับเท่าที่ไม่เกิดผลเสียได้

          • วิเคราะห์ ประเมินและตีความสื่อได้ว่าสื่อดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เชื่อถือได้หรือเชื่อถือไม่ได้ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์

          • มีความสามารถในการนำสื่อไปใช้ประโยชน์กับชีวิตตนเอง หรือการเรียน การงานในทางที่ใช้สื่อเป็นการหาข้อมูลการสร้างเพื่อน เครือข่าย หรือการพักผ่อน สามารถนำความคิด ความรู้ไปสร้างสรรค์งานของตนเอง หรือนำไปพัฒนาต่อยอดตนเอง

การฝึกลูกให้มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ โดยเน้นที่การฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ การรู้เท่าทันตนเอง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกและส่งเสริมทักษะชีวิต เช่น เมื่อลูกมีปัญหาก็นำปัญหามาวิเคราะห์สาเหตุความเป็นไปได้ การหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจ การสังเกตอารมณ์และความคิดของตนเองบ่อย ๆ

• How To รักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ •

          1.ไม่ตั้งรหัสผ่านที่ง่ายเกินไป ควรตั้งรหัสที่มีความซับซ้อน และไม่ควรบันทึกรหัสผ่านไว้ในอุปกรณ์ดิจิทัล

          2.ใส่ใจกับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว แอปส่วนใหญ่จะมีตัวเลือกการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้มากที่สุด ระมัดระวังในการเปิดเผยชื่อและที่ตั้งของเรา และปฏิเสธ แอปที่พยายามจะเข้าถึงกล้องถ่ายรูปของเรา

          3.ใส่ใจรอยเท้าดิจิทัล สิ่งที่ผู้ใช้โพสต์ลงโลกออนไลน์แล้ว สิ่งนั้นจะคง อยู่ตลอดไป แม้ว่าโพสต์ต้นทางจะลบแล้ว คนอื่นก็จะตามร่องรอยเราได้ เมื่อคิดจะโพสต์ ควรโพสต์แต่เรื่องที่ดีๆ และระมัดระวังการเปิด เผยข้อมูลส่วนตัว

          4.ควรติดตั้งโปรแกรมรักษาความปลอดภัยในอุปกรณ์ดิจิทัลทุกเครื่องเพื่อป้องกันอุปกรณ์เหล่านั้นจากภัยคุกคาม ในโลกไซเบอร์

          5.สำรองข้อมูลไว้เสมอ เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญจากโปรแกรมเรียกค่าไถ่ที่จะยึดข้อมูลของผู้ใช้งานไว้เป็นตัวประกัน

          6.ติดตั้งเครื่องมือติดตามอุปกรณ์หรือล็อคหน้าจอ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้

          7.ระมัดระวังการใช้บลูทูธ ควรจะปิดโหมดบริการนี้ไว้เสมอ เมื่อไม่ ได้ใช้งาน

          8.อัปเดตระบบปฏิบัติการอยู่เสมอ ทั้งระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ ดิจิทัล และโปรแกรมและแอปพลิเคชั่นที่ติดตั้งในอุปกรณ์นั้น เพื่อที่จะ รับบริการด้านความปลอดภัยและซ่อมแซมข้อบกพร่องของรุ่นเก่าๆ

          9.ระมัดระวังการใช้ไวไฟ อุปกรณ์ไวไฟที่ใช้ควรจะมีความปลอดภัย ควรตั้งรหัสผ่านไว้ตลอดเวลา และไม่ใช้ไวไฟสาธารณะทำธุรกรรมทางการเงินหรือเมื่อต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

          10.ลบข้อมูลหรือโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือเก็บไว้ในลักษณะออฟไลน์ เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวในกรณีที่ผู้ใช้งานกลัวจะลืมข้อมูลหากต้องกลับมาใช้งานอีก

          11.ระมัดระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูล (Phishing) มิจฉาชีพมักจะปลอมตัวเป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จัก และหลอกล่อให้ผู้ใช้งานเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ควรสังเกต URL ของเว็บไซต์ให้ชัดเจนอย่ากดลิงก์หรือเปิดไฟล์ที่แนบเข้ามา

          12.ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างระมัดระวัง ไม่รับคนไม่รู้จักเป็นเพื่อน หลีกเลี่ยงการแชตกับคนแปลกหน้า ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในโหมดสาธารณะ และลบบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว

∴ ดูแลเจ้าหนูใช้งานหน้าจอ ∴

          สำหรับเด็กในช่วงวัย 1- 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กใช้จอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ และผู้ปกครองควรดูแลการใช้สื่อ อุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้งานตามลำพัง จนกว่าผู้ปกครองจะมั่นใจแล้วว่าบุตรหลานมีความสามารถในการเลือกใช้ มีความสามารถในการควบคุมและยับยั้งชั่งใจตนเอง สามารถระมัดระวังตนเองจากการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตได้ จึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด และไม่ควรปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยุ่หน้าจอนานเกินไป เพราะอาจจะอยู่ในภาวะ “เสพติดอินเทอร์เน็ต” ได้

Did You Know

         ทางการแพทย์ได้ยอมรับให้มีการวินิจฉัย “ภาวะติดอินเทอร์เน็ต-ติดเกม” เป็นโรค โดยการวิจัยพบว่า ลักษณะสมองของคนเสพติดอินเทอร์เน็ต ติดเกม มีลักษณะคล้ายสมองคนติดยา ติดการพนัน ซึ่งมีผลต่อสมองส่วนการคิด การยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมการเสพติด มีความสามารถในการควบคุมตนเองลดลง มีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ซึ่งมีผลกระทบต่อสมอง จิตใจ ร่างกายและการเข้าสังคม รวมถึงการศึกษาคลื่นไฟฟ้าสมองพบว่า สมองคนติดอินเทอร์เน็ตมีการลดลงของคลื่นเบต้า (beta wave) คล้ายคนเป็นโรคสมาธิสั้น และบางงานวิจัยพบว่าคล้ายคนที่เสพติดเหล้า โคเคน 

การเสพติดอินเตอร์เน็ต แบ่งเป็น7 กลุ่ม คือ1. การเสพติดเกมออนไลน์ (Online gaming addiction)2. การติดสื่อสังคมออนไลน์ (Social media or blogging addiction)3. การติดซื้อของออนไลน์ (Online shopping addiction)4. การติดเว็บโป๊ สื่อลามกออนไลน์ (Cybersex or Online pornography addiction)5. การติดพนันออนไลน์ (Online gambling addiction)6. การติดท่องโลกอินเตอร์เน็ต (Surfing the internet)และ7. การติดชมคลิป/ดูสื่อ เช่น การติดยูทูป(Youtube)

 สำรวจสัญญาณเสพติดอินเทอร์เน็ต

  1. ใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์ เกมหรือคอมพิวเตอร์ จนไม่ทำ หรือทำกิจกรรมอื่นน้อยลงชัดเจน
  2. มีท่าทีไม่พอใจ หงุดหงิด ก้าวร้าวเมื่อถูกว่าหรือตำหนิเรื่องพฤติกรรมการใช้ หรือถูกให้หยุดใช้
  3. มีความสุขกับการใช้โทรศัพท์ เล่นเกม ใช้อินเตอร์เนทมากกว่าการใช้เวลากับผู้คนจริงๆ
  4. ไม่สนใจผู้คน หรือทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ แยกตัวจากสังคมจริง
  5. สร้างตัวตนที่สองหรือราวกับมีชีวิต และสังคมแต่กับเพื่อนออนไลน์
  6. หมกมุ่นกับการใช้อินเทอร์เน็ต เล่นเกม จนขาดการควบคุมตนเองในการชีวิตประจำวัน เช่น เล่นเกมจนไม่กิน ไม่นอน เสียสมาธิ
  7. เสียหน้าที่ การเรียนหรือการทำงาน เช่น ไม่ไปโรงเรียนผลการเรียนตกลง

เพียงเท่านี้น้อง ๆ หนู ๆ ก็จะสามารถใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์