เคล็ดลับการสร้าง Self-Esteem ให้ลูก

เคล็ดลับการสร้าง Self-Esteem ให้ลูก

Loading

พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นลูกของตัวเองมีความมั่นใจ เติบโตอย่างมีความสุขและสามารถรับมือกับปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่ในวันที่เขาโตขึ้น เพราะเรารู้ว่าวันนี้จิตใจที่เปราะบางไร้ภูมิคุ้มกันอาจทำให้ลูกน้อยเดินผิดทางหรือทำลายอนาคตของเขาได้จากอารมณ์ชั่ววูบ

            แต่การสร้างคุณค่าหรือความรู้สึกนับถือตัวเองที่เปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันที่เรียกมีอีกชื่อเรียกว่า “Self-esteem” นี้ไม่สามารถสร้างได้ในชั่วข้ามคืน ทว่าต้องอาศัยการบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก ๆ ปลูกฝังให้เด็กเกิดความเชื่อว่าเขาสามารถทำบางอย่างได้สำเร็จ ทำบางสิ่งได้ดี ทยอย สะสมไปทีละเรื่อง จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ทำให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งพ่อแม่สามารถสนับสนุนความเชื่อมั่นนี้ได้ผ่านรอยยิ้ม คำชม

ในกรณีพ่อแม่หรือผู้ปกครองแสดงออกกลับกัน หันไปดุ ตำหนิ ลงโทษ หรือแสดงอารมณ์เชิงลบกับเด็กจะทำให้เด็กขาด Self-esteem กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่มั่นคง และไร้ค่าจนต้องทดสอบความรักจากคนรอบข้างตลอดเวลา

รูปแบบการส่งเสริมลูกน้อยให้เกิด Self-esteem มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันตามแต่ละช่วงวัยดังนี้

1.พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก

          พ่อแม่สามารถสร้างSelf-esteem ให้ลูกได้ตั้งแต่วัยทารกจากการสร้างความมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจ โดยสร้างเวลาคุณภาพร่วมกับลูก อยู่ร่วมกัน พูดคุย หรือเล่านิทาน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกมีค่า มีความหมาย

2.พ่อแม่ที่มีลูกวัยก่อนเข้าวัยรุ่น

         ในวัยเรียนก่อนเข้าวัยรุ่น ลูกยังคงต้องการความรักและความอบอุ่นต้องการสร้างตัวตนที่มั่นคงและได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างในชีวิต พ่อแม่สามารถสนับสนุนความรู้สึกนี้ได้จากการมองหาข้อดีที่เขาถนัด นำมาส่งเสริม ต่อยอด ชื่นชมอย่างจริงใจ หรือส่งผ่านความรักด้วยภาษากายอย่างการกอด

3.พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น

         เทคนิคสำคัญในการเสริมสร้างความภาคภูมิใจใจตัวเองของลูกวัยรุ่น คือ รับฟัง เข้าใจ ยอมรับ และชื่นชม

        ♥ รับฟังทุกแง่มุมและความคิดของลูกทั้งเรื่องดีและไม่ดีเพื่อให้เขารับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า ความสำคัญ หลีกเลี่ยงการพูดตำหนิ สั่ง สอน

        ♥ เข้าใจ ทุกแง่มุมและเหตุผลที่ลูกเผชิญ รับรู้ศักยภาพและข้อจำกัดของลูก รวมทั้งเข้าใจ ความต้องการ ของลูกเมื่อใดที่พ่อแม่สร้างความรู้สึกอบอุ่นใจให้เขา เขาก็พร้อมเปิดใจให้เรารับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและแบ่งปันวิธีแก้ไขร่วมกันได้โดยไม่ปิดบังหรือปล่อยให้สายเกินไป สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องไม่มองแต่มุมของตัวเอง

        ♥ ยอมรับ ตัวตนของลูกทั้งข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย ที่รวมเป็นเขา และเคารพในเส้นทางที่เขาเลือกอย่างเข้าใจ ส่งเสริมให้ลูกทำในสิ่งที่ถนัดหรือมีความสุขให้ดีขึ้น แต่ระวังการตัดสินความเป็นตัวเองของลูกว่าเป็นปัญหา หรือบีบบังคับให้เขาแก้ไขจุดอ่อนเพื่อคามคาดหวังส่วนตัว

        ♥ ชื่นชม ชื่นชมในความพยายามและให้คุณค่ากับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาทำได้ดีไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เขาเห็นหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้รู้ว่าเราเห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวลูก เลี่ยงการแสดงออกแบบเพิกเฉย และเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือกลัวว่าชมแล้วเหลิง

กรณีที่ลูกพบข้อผิดพลาดหรือล้มเหลว พ่อแม่ก็ควรมอบคำพูดให้กำลังใจเช่น “ไม่เป็นไร” “เริ่มต้นใหม่ได้” “พ่อ/แม่รู้ว่าลูกพยายามแล้ว” เพื่อให้เขาเรียนรู้ความล้มเหลว ขณะเดียวกันก็รู้ว่ายังคงมีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดและพัฒนาตัวเองต่อได้อนาคต

        คงไม่มีใครไม่เคยทำผิดมาก่อน และหากลูกของเราคือคนหนึ่งที่ออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหญ่อย่างการเสพยา หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย เกิดขึ้นเราก็ควรพิจารณาว่ามีปัจจัยไหนที่ทำให้เขาต้องทำอย่างนั้นหรือไม่เพื่อร่วมแก้ไข หรือถ้าเห็นว่าลูกของเราเพอร์เฟ็กต์เสียทุกด้าน ก็อย่าว่าใจ เพราะบางครั้งนี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายอย่างอาการไร้ความสุข กลายเป็นซึมเศร้าเพราะความกังวลว่าพ่อแม่จะผิดหวัง หรือไม่ได้ยอมรับการยอมรับจากพ่อแม่หากอยู่นอกเส้นทางของการเป็น “เด็กดี”