“หญิง-ชาย” ทำไมถึงต่างกัน

“หญิง-ชาย” ทำไมถึงต่างกัน

Loading

เคยสงสัยไหมว่า “ผู้ชาย-ผู้หญิง” ทำไมถึงมีความแตกต่างกัน ไม่เพียงแค่ลักษณะทางกายภาพแต่ยังมีรวมไปถึงแนวคิดและพฤติกรรมด้วย

          ในทางวิชาการแบ่งสถานะเพศออกเป็น เพศทางชีวภาพ คือ ลักษณะทางกายภาพของเพศหญิงหรือเพศชาย และ เพศทางสังคม คือ ความเป็นชายหรือหญิงที่มาจากความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งในคนหนึ่งคน ลักษณะของเพศทางชีวภาพ กับ เพศทางสังคม อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้

          ความแตกต่างทางกายภาพหรือเพศทางชีวภาพของผู้หญิงและผู้ชายนั้น ถูกกำหนดมาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในระดับโครโมโซม ที่เพศชายเกิดจากการรวมกันของโครโมโซม X กับ Y ส่วนเพศหญิง เกิดจากการรวมกันของโครโมโซม  X สองแท่ง ส่งผลให้อวัยวะและฮอร์โมนในร่างกายของหญิงกับชายแตกต่างกัน รวมถึงส่งผลต่อสมอง ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมที่แตกต่างกันด้วย

          นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศยังกำหนดให้สมองของผู้ชายและผู้หญิงต่างกัน สมองบางส่วนผู้ชายใหญ่กว่าผู้หญิง แต่สมองบางส่วนของผู้หญิงก็มีขนาดใหญ่กว่าผู้ชายเช่นกัน และสมองของคนเราก็ประกอบไปด้วยส่วนที่ทำหน้าที่แตกต่างกันมากมาย มีทั้งส่วนที่มีความเป็นผู้ชาย (masculinization) และส่วนที่มีความเป็นผู้หญิง (feminization) การจัดเรียงตัวของสมองส่วนต่าง ๆ หมือนกับการนำกระเบื้องโมเสกมาเรียงต่อกัน ผสมผสานทั้งส่วนที่เป็นชายและหญิงเข้าด้วยกัน ดังนั้น ผู้ชายจึงมีลักษณะของความเป็นผู้หญิงอยู่ในตัวบ้าง ขณะเดียวกันผู้หญิงก็มีลักษณะของความเป็นผู้ชายอยู่ในตัวเช่น มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคน

ความแตกต่างของหญิงและชายยังเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู ซึ่งเด็กหญิงและเด็กชายมักได้รับการเลี้ยงดูที่ต่างกัน

          เด็กชาย พ่อแม่มักให้อิสระมากกว่าเด็กผู้หญิง ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้ง ทำกิจกรรมที่ออกกำลัง แข่งขัน สอนให้พึ่งพาตัวเอง แม้แต่ในเรื่องเพศเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ก็มักได้รับอิสระจากพ่อแม่มากกว่าเด็กผู้หญิง ปลูกฝังเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษ การให้เกียรติผู้หญิงจากพ่อที่เป็นต้นแบบ

          เด็กหญิง มักจะได้รับการเลี้ยงดูแบบประคบประหงม ดูแลใกล้ชิด พูดคุยเรื่องสัพเพเหระมากกว่าเด็กชาย และเน้นการทำกิจกรรมในบ้านมากกว่านอกบ้าน ในเรื่องเพศเด็กผู้หญิงมักถูกหล่อหลอมให้มีกรอบมากกว่าเด็กผู้ชาย เช่น สอนให้รักนวลสงวนตัว ซึ่งเป็นการปลูกฝังบทบาทแม่

บทบาททางเพศที่แตกต่างกันของหญิงและชายนั้น เด็กจะมีพ่อและแม่เป็นต้นแบบ หรือในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านญาติและสังคมได้ ซึ่งคนเลี้ยงต้องมีบทบาทหน้าที่เป็นพ่อแม่ทดแทน เพื่อให้พฤติกรรมทางเพศของเด็กเหมาะสม โดยเฉพาะการเรียนรู้ในช่วงเด็กอายุ 3-6 ปี และช่วงเข้าวัยรุ่น 11-14 ปี

          ทั้งลักษณะทางกายภาพและฮอร์โมนที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการเลี้ยงดูและการปลูกฝังบทบาทที่แตกต่างกัน ล้วนส่งผลต่อทัศนคติ แนวคิด และพฤติกรรมของเด็กหญิงและเด็กชายที่แตกต่างกันตามบริบทของสังคม